ในสัปดาห์ที่ผ่านมา (24 – 28 ส.ค.) ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้น หลังการหารือทางโทรศัพท์ระหว่างตัวแทนทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน สามารถหาข้อตกลงร่วมกันได้ ส่งผลให้ข้อตกลงการค้าเฟส 1 ยังคงดำเนินต่อไป และการพัฒนาวัคซีนและยาต้านไวรัสมีความคืบหน้ามากขึ้น หลังผลการทดลองของบริษัท Moderna ให้ผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจ ด้านตลาดหุ้นญี่ปุ่นปิดลบ จากความไม่แน่นอนด้านการเมืองและการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น หลังนายกรัฐมาตรีชินโซะ อาเบะ ประกาศจะลาออกโดยให้เหตุผลจากเรื่องสุขภาพ สำหรับตลาดหุ้นจีน (A-Share) ปรับเพิ่มขึ้น หลังธนาคารกลางจีนอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบ 5 หมื่นล้านหยวน และแรงซื้อนำในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีจีน หลังรัฐบาลจีนดำเนินการปฏิรูปครั้งใหญ่ เพื่อผลักดันการลงทุนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ด้านตลาดหุ้นไทยปรับเพิ่มขึ้น หลังนักลงทุนเริ่มคลายความกังวลในเรื่องผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนไทย นอกจากนี้ ดัชนีฯได้แรงหนุนจากประเด็นการอนุญาตให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทยได้ สำหรับราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้น หลังซาอุดี อารามโค คาดว่า ความต้องการใช้น้ำมันในภูมิภาคเอเชียจะฟื้นตัวขึ้น นอกจากนี้ ราคาน้ำมันยังได้แรงหนุนหลังอิทธิพลของเฮอร์ริเคนมาร์โคและพายุโซนร้อนลอราได้ส่งผลให้บริษัทน้ำมันในอ่าวเม็กซิโกปรับลดกำลังผลิตน้ำมันดิบนอกชายฝั่งลงประมาณ 84.3% จากข่าวการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันของอิรัก และรายงานสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐฯลดลงมากกว่าที่ตลาดคาด ด้านราคาทองคำปรับเพิ่มขึ้น หลังถ้อยแถลงของประธาน Fed ที่ระบุว่า จะปรับเปลี่ยนนโยบายการเงิน โดยจะใช้เป้าหมายอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยที่ระดับ 2% ซึ่ง ส่งผลให้ Fed มีแนวโน้มตรึงอัตราดอกเบี้ยระดับต่ำต่อไป
มุมมองของเราในสัปดาห์นี้
ในสัปดาห์นี้ ตลาดหุ้นโลกมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง แต่เคลื่อนไหวผันผวน ได้รับปัจจัยสนับสนุนมาจากถ้อยแถลงของสมาชิกธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่มีแนวโน้มส่งสัญญาณการดำเนินนโยบายการเงินเชิงผ่อนคลายต่อ โดยการที่ Fed เปลี่ยนนโยบายอัตราเงินเฟ้อจากอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายคงที่เป็นอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายแบบเฉลี่ย จะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยยังคงอยู่ในระดับต่ำต่อไป สัญญาณความคืบหน้าในการออกมาตรการกระตุ้นทางการคลังรอบใหม่ของรัฐบาลสหรัฐฯ และการพัฒนาวัคซีนและยาต้านไวรัสที่มีแนวโน้มคืบหน้ามากขึ้น ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกสองของโควิด-19 ในสหรัฐฯที่ดีขึ้น จะส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิโลก โดยเฉพาะสหรัฐฯ และสร้าง Sentiment เชิงบวกต่อตลาดฯ อย่างไรก็ตาม ความกังวลเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ-จีนที่ยังมีอยู่ หลังกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯขึ้นบัญชีดำรัฐวิสาหกิจจีน 24 แห่ง และทางการสหรัฐฯยังได้ออกมาเรียกร้องให้กองทุน endowment ของมหาวิทยาลัยต่างๆในสหรัฐฯปรับลดการถือครองหลักทรัพย์จีน ในขณะที่ รัฐบาลจีนได้ออกกฎหมายใหม่คุมเข้มเรื่องการขายและส่งออกเทคโนโลยีจีนสู่ต่างประเทศ โดยประเด็นความขัดแย้งข้างต้นจะยังสร้างความผันผวนต่อตลาดฯ ด้านราคาน้ำมันดิบ WTI มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อ โดยยังได้แรงหนุนจากการที่บริษัทน้ำมันในอ่าวเม็กซิโก ยังทยอยอพยพออกจากแท่นขุดเจาะเพื่อเตรียมรับมือกับพายุที่จะเข้าอ่าวเม็กซิโก ซึ่งจะส่งผลให้มีการระงับการผลิตน้ำมันเพิ่มเติมในพื้นที่ดังกล่าว สำหรับตลาดหุ้นไทยมีแนวโน้มปรับลดลง และเคลื่อนไหวผันผวน จากการปรับน้ำหนักเข้าออกของหุ้นไทยในดัชนี MSCI และความไม่แน่นอนทางการเมืองภายในประเทศ ด้านราคาทองคำมีแนวโน้มทรงตัวถึงปรับลดลง จากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯที่จะประกาศในสัปดาห์นี้ เช่น รายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจของ Fed 12 เขต และตัวเลขตลาดแรงงานของสหรัฐฯ มีแนวโน้มออกมาฟื้นตัวดีขึ้น
เหตุการณ์สำคัญ (KEY EVENTS)
- สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลก โดยยอดผู้ติดเชื้อใหม่รายวันในสหรัฐฯ ลดลงจากจุดสูงสุดช่วงกลางเดือน ก.ค.ที่ 72,000 รายต่อวัน ลงมาอยู่ที่ 30,000 – 40,000 รายต่อวัน ในช่วงนี้ ขณะที่ ตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่รายวันของฝรั่งเศสล่าสุดอยู่ที่ 6,111 ราย ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 31 มี.ค.
- ข้อพิพาทระหว่างสหรัฐฯ-จีน หลังรัฐบาลจีนออกกฎหมายใหม่คุมเข้มเรื่องการขายและส่งออกเทคโนโลยีของจีนสู่ต่างประเทศ ซึ่งจะครอบคลุมไปถึง Tiktok ที่ให้บริการในสหรัฐฯ โดยระเบียบส่งออกดังกล่าวจะทำให้รัฐบาลแทรกแซงการขายกิจการ Tiktok ในสหรัฐฯ
- สัญญาณความคืบหน้ามาตรการกระตุ้นทางการคลังรอบใหม่ของสหรัฐฯ หลังประธานาธิบดีทรัมป์ยินดีที่จะลงนามอนุมัติกฎหมายเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 มูลค่า 1.3 ล้านล้านดอลลาร์ สหรัฐฯ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดิม 1 แสนล้านดอลลาร์ สหรัฐฯ ตามที่ก่อนหน้านี้ ทำเนียบขาวและวุฒิสมาชิกพรรครีพับลิกันเคยเสนอไว้
- ถ้อยแถลงของสมาชิก Fed โดยคาดว่า สมาชิก Fed จะยังส่งสัญญาณนโยบายการเงินเชิงผ่อนคลาย สอดคล้องกับที่ประธาน Fed ได้ประกาศปรับเปลี่ยนนโยบายการเงิน โดยระบุว่า จะยอมให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเกิน 2% ได้ ในการประชุมที่ Jackson hole ที่ผ่านมา
- การเตรียมนำเสนอแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 1 แสนล้านยูโร (3 ก.ย.) ของรัฐบาลฝรั่งเศส โดยแผนกระตุ้นดังกล่าวจะยังคงดำเนินการปรับลดภาษีแก่ภาคธุรกิจลงต่อ ขณะที่ 1 ใน 4 ของกองทุนฟื้นฟูจะมุ่งเน้นไปยังธุรกิจขนาดกลางและเล็ก
- การทยอยรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาสที่ 2 ในสัปดาห์นี้ เช่น Campbell, Zoom และ Berkeley
ปัจจัยจับตาสัปดาห์นี้
- ตัวเลขเศรษฐกิจ ได้แก่ ดัชนี PMI ภาคการผลิต และภาคบริการของสหรัฐฯ และยุโรป, ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและพื้นฐานของสหรัฐฯ, ดัชนี ISM ภาคการผลิต และนอกภาคการผลิตของสหรัฐฯ, ดัชนี PMI ภาคบริการของจีน (Caxin), การจ้างงานภาคเอกชน (ADP) และการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ, รายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจของ Fed 12 เขต (Fed Beige Book)
- เหตุการณ์สำคัญ ได้แก่ ความคืบหน้าในการออกมาตรการกระตุ้นทางการคลังรอบใหม่ของสหรัฐฯ, การหารือแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลฝรั่งเศส, สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19, ประเด็นความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ-จีน, การรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาสที่ 2 และถ้อยแถลงของสมาชิก Fed