ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ระบุว่า ได้ส่งร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ถึงนายกรัฐมนตรี แล้วจะมีการพิจารณาว่าจะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความหรือไม่ ว่า นายกฯ ระบุไปแล้วว่าไม่ใช่หน้าที่ แล้วตนจะพูดอะไรได้ และไม่ทราบว่า จะทำอย่างไรต่อเพราะสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ยังไม่ได้รายงานให้ ครม. ทราบ และกฎหมายดังกล่าว สนช. สามารถยื่นตีความได้เอง ซึ่งเขาตัดสินใจแล้วว่า จะยื่นเพียงร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. เพราะเห็นว่า หากมีปัญหาขึ้นมาเรื่องจะใหญ่จึงตัดไฟแต่ต้นลม
ทั้งนี้นายวิษณุ กล่าวด้วยว่า ที่ไม่ยื่นร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. เป็นเพราะว่าหากมีคนร้องในวันหนึ่งก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่ต้องเดือดร้อนจนต้องตัดไฟก่อน เนื่องจากมีประเด็นที่เป็นปัญหา 2 มาตรา คือ เรื่องที่เกี่ยวกับตัดสิทธิไม่สามารถเป็นข้าราชการการเมืองได้หากไม่ไปเลือกตั้ง แล้วมีการสงสัยกันจนยื่นศาลรัฐรรรมนูญ แล้วศาลว่า ขัดก็เลิกมาตรานี้ไป คนที่ถูกตัดสิทธิก็กลับมาเป็นข้าราชการการเมืองได้ ไม่ได้เดือดร้อนอะไร และแทบจะไม่ต้องแก้กฎหมายเลยสักคำ เมื่อขัดก็เอามาตรานี้ออกก็จบ
นายวิษณุ กล่าวอีกว่า ส่วนอีกมาตราคือที่เกี่ยวกับการลงทะเบียนแทนผู้พิการ เมื่อดูแล้วไม่ได้ระบุว่าให้กาบัตรแทนคนพิการ แต่ต้องมีมาตรการในการช่วยเหลือ ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ชี้แจงแล้วว่า มีวิธีแล้วว่าจะทำอย่างไรให้คนไปช่วยไม่รู้ว่าเลือกใคร ทำให้ความลับยังมีอยู่ แต่สมมติว่า ถ้าศาลตัดสินว่า ขัดรัฐธรรมนูญก็เอามาตรานี้ออก ก็ไม่ส่งผลกระทบถึงขนาดทำให้คะแนนเสีย เพราะคนมาลงคะแนนเป็นล้านคน แต่มีผู้พิการกาบัตรไม่ได้ไม่กี่คน
เมื่อถามว่าหากสามารถตัดมาตราที่ขัดออกตามที่ศาลให้ตัดได้ แล้วทำไมสนช.ไม่ยื่นเอง แต่กลับมาโยนให้รัฐบาลอีกรอบ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่รู้ เพราะไม่ได้เป็นสนช.และวิปสนช. และถ้าใครเห็นว่า ควรจะยื่นก่อนที่กฎหมายประกาศใช้ก็ช่วยบอกมาที่รัฐบาล หรือถ้าไม่เห็นด้วยเพราะคิดว่า เป็นแผนถ่วงเรื่อง ประวิงเวลา สิ่งเหล่านี้รัฐบาลมองอยู่ ถึงบอกว่าถ้ารัฐบาลเฉยไม่ยื่นก็รบเร้าให้ยื่นจะได้ชัดเจน แต่พอจะยื่นก็มาบอกว่าเป็นทฤษฎีสมคบคิดอีก เรื่องนี้ก็ต้องแล้วแต่คนมอง ซึ่งคนที่มองเก่งๆก็มี แต่ตนมองไม่ถูก เพราะวิชามารตนไม่ถนัด
เมื่อถูกถามอีกว่าเป็นไปได้หรือไม่ ที่รัฐบาลจะยื่นตีความร่าง พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส.เอง เพื่อป้องกันปัญหาหากมีการไปยื่นตีความหลังกฎหมายประกาศใช้ นายวิษณุ กล่าวว่า เมื่อสนช.ส่งมาแล้วเราได้รับก็จะต้องหารือกัน และสอบถามไปที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.)ว่าจะยืนยันอย่างไร และถาม สนช.ว่าเหตุใดจึงไม่ยื่นเอง และคุยในรัฐบาลอีกครั้ง
ต่อข้อถามที่ว่าหากหาทางออกไม่ได้รัฐบาลจะยื่นเองหรือไม่ รองนายกฯ กล่าวย้อนว่า “นั่นสื่อพูด ผมยังไม่ได้พูด เพราะรัฐบาลยังไม่ได้รับเรื่อง และในกฎหมายเขียนไว้แล้วว่าคนที่จะยื่นได้มีเพียงสนช. และนายกฯ แต่นายกไม่ใช่ไปรษณีย์เมื่อได้รับมา แล้วยื่นเองแปลว่านายกฯสงสัย แต่ถ้าสนช.ยื่นแสดงว่าสมาชิกสงสัย ดังนั้นอยู่ที่ว่าใครสงสัย คุณจะเอาความสงสัยของคุณมาฝากให้นายกฯช่วยสงสัยไม่ได้”
เมื่อถามว่าในกรณีที่ สนช. ต้องการให้นายกฯเป็นผู้ยื่น แต่หากนายกฯไม่สงสัย ก็เป็นไปได้ที่นายกฯจะไม่ยื่น นายวิษณุ กล่าวว่า ก็ถูกแล้ว เมื่อถามว่าหากไม่ยื่นตีความ แล้วเกิดกฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับ มีปัญหาในอนาคตจะทำอย่างไร นายวิษณุ กล่าวว่า เรื่องนี้นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช.แถลงชัดเจนแล้ว