นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้รับแจ้งจากสำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงบรัสเซลส์ว่า คณะกรรมาธิการยุโรปฝ่ายภาษี สหภาพยุโรป อยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ เกี่ยวกับแนวทางการเก็บภาษีคาร์บอนข้ามพรมแดน (CBAM) จนถึงวันที่ 28 ตุลาคม 2563 โดยมี 3 แนวทางในการเปิดรับฟังความคิดเห็นคือการประเมินความเป็นไปได้ทางกฎหมายและทางเทคนิคของมาตรการ CBAM หรือการขยายขอบเขต การประเมินปริมาณและราคาคาร์บอนสำหรับสินค้านำเข้า และ กลุ่มสินค้า อุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงของการรั่วไหลของคาร์บอนสูงสุด

ทั้งนี้ อียูมีแผนที่จะออกกฎหมาย CBAM ในปี 2564 และคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในปี 2566 ซึ่งมาตรการ CBAM เป็นมาตรการที่กำหนดอัตราภาษีนำเข้าตามระดับคาร์บอน เพื่อลดความได้เปรียบทางด้านต้นทุนของสินค้าจากประเทศกำลังพัฒนาที่อาจมีระดับคาร์บอนแฝงสูงกว่าสินค้าที่ผลิตภายในประเทศที่มีมาตรการจัดการกับก๊าซเรือนกระจก เนื่องจากประเทศที่สามที่มีการส่งออกสินค้าไปยังอียูไม่มีการกำหนดโควตาหรือมีมาตรการจำกัดการปล่อยก๊าซฯ ที่เข้มงวดน้อยกว่า

ทั้งนี้ สินค้าที่อาจได้รับผลกระทบเป็นสินค้าอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานในการผลิตอย่างเข้มข้น และปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการผลิตสูง เช่น เคมีภัณฑ์ ซีเมนต์ เหล็ก สินค้าเหล็ก และแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า

โดยผู้ประกอบการไทยที่เกี่ยวข้องอาจเข้าร่วมให้ความเห็นต่อกระบวนการดังกล่าวเพื่อให้อียูได้รับทราบข้อมูลข้อเท็จจริงและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการกำหนดมาตรการ CBAM ซึ่งสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดในเชิงเทคนิคเพิ่มเติมได้ที่ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) เบอร์โทรศัพท์ 02-141-9790 เว็บไซต์ http://www.tgo.or.th/2015/thai/index.php และที่เว็บไซต์ https://ec.europa.eu/info/law/better-regulaton/have-your-say/initiatives/12228-Carbon-Border-Adjustment-Mechanism เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคทางการค้า