อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,211 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมทั่วประเทศในเดือนกรกฎาคม 2563 พบว่า ปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ ร้อยละ 51.8, ราคาน้ำมัน ร้อยละ 38.0 และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ร้อยละ 22.0 ตามลำดับ
ส่วนปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง คือ สภาวะเศรษฐกิจโลก ร้อยละ 67.9 และอัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ร้อยละ 44.3
สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 93.0 โดยเพิ่มขึ้นจาก 90.1 ในเดือนมิถุนายน 2563 ทั้งนี้ ความเชื่อมั่นปรับตัวดีขึ้นทุกองค์ประกอบ ซึ่งผู้ประกอบการมองว่าภาคการผลิตเริ่มมีสัญญาณการปรับตัวดีขึ้น หากไม่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบสอง จะทำให้ผู้ประกอบการดำเนินกิจการต่อไปได้ อย่างไรก็ตามค่าดัชนีฯ ยังต่ำกว่าระดับ 100 สะท้อนว่าความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในอนาคตยังต่ำกว่าระดับปกติ เนื่องจากยังมีปัจจัยกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจในประเทศและต่างประเทศรวมทั้งปัญหาความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีนข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ
ขณะเดียวกันมีข้อเสนอให้ภาครัฐขยายระยะเวลามาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการออกไปจนถึงสิ้นปี 2563 เช่น การพักหนี้ ลดเงินนำส่งประกันสังคม เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ รวมถึงเร่งเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการลงทุนของภาครัฐ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ