ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย (มปท.) , นายถาวร เสนเนียม อดีตแกนนำ กปปส.อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และ อดีต ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ , นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย อดีตแกนนำ กปปส.อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และอดีต ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ , นางอัญชะลี ไพรีรัก อดีตพิธีกรเวทีชุมนุมกปปส. และแนวร่วม กปปส.จำนวนหนึ่ง ซึ่งเป็นจำเลยคดีร่วมกันกบฏ , สนับสนุนกบฏ , ขัดขวางการเลือกตั้งฯ และข้อหาอื่นรวม 8-9 ข้อหา พร้อมด้วยทนายความ เดินทางมาเพื่อตรวจหลักฐาน คดีที่อัยการยื่นฟ้องไว้ 2 สำนวน คือหมายเลขดำ อ.247/2561 ที่อัยการสำนักงานคดีพิเศษ 4 ยื่นฟ้อง นายสุเทพ และแกนนำ กปปส. รวม 9 คน และคดีหมายเลขดำคดีหมายเลขดำ อ.832/2561 ที่อัยการยื่นฟ้อง นางอัญชะลี , พุทธอิสระ และแนวร่วม กปปส. รวม 14 คน
ก่อนเข้าสู่การพิจารณา นายสุเทพ กล่าวว่า พวกตนและบรรดาจำเลย ทั้ง 2 รุ่น ซึ่งรุ่นแรก คือ แกนนำ 9 คนที่อัยการยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 24 ม.ค. และจำเลยรุ่นที่ 2 รวม 14 คน ที่อัยการเพิ่งยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 14 มี.ค.ที่ผ่านมา ศาลได้นัดให้มาตรวจหลักฐานพร้อมกันในวันนี้ รวมจำเลยทั้งหมด 23 คนฐานเป็นกบฏต่อแผ่นดิน , เป็นอั้งยี่ , ซ่องโจร , ทำผิด พ.ร.ก.บริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ , บุกรุกสถานที่ราชการ , ขัดขวางการเลือกตั้ง ฯลฯ แต่ว่าโดยข้อเท็จจริงแล้วผู้ที่ฟ้องเป็นจำเลยทุกคนไม่ได้มีพฤติกรรมตามที่ถูกกล่าวหา บางคนเพียงแค่ขึ้นเวทีปราศรัยให้ความรู้กับประชาชน บางคนก็เพียงแค่ไปชุมนุมเป็นครั้งคราวตามโอกาสเท่านั้น ดังนั้นวันนี้ พวกตนก็จะยื่นคำร้องต่อศาลขอ อย่าได้นำคดีทั้ง 2 สำนวน หรือเอาจำเลยทั้ง 23 คนมารวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันเลย เพราะจะไม่เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี และต่อกระบวนการยุติธรรมจึงให้ศาลแยกพิจารณาเป็นคดีๆ ไป แต่หากสุดท้ายศาลมีคำสั่งว่าเพื่อความสะดวกให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันหรือมีคำสั่งใด เราก็ต้องยอมรับ
“แน่นอนว่า ผมและแกนนำ กปปส. รวม 9 คนเราต้องรับผิดชอบทุกข้อหาอยู่แล้ว และยินดีที่จะเข้ารับการพิจารณาเป็นชุดแรก แต่บรรดา 14 คนที่ยื่นฟ้องมาชุดหลังอยากให้ศาลได้พิจารณาว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะให้อัยการถอนฟ้องไปก่อน เพื่อสอบสวนใหม่ให้ชัดเจนว่าพฤติกรรมของแต่ละที่เกี่ยวข้องในการชุมนุม ที่แท้จริงแล้วมีอะไรบ้างก็ฟ้องไปตามนั้น เช่นถ้าผิดฐานขัดขวางเลือกตั้ง ก็ฟ้องข้อหาขัดขวางการเลือกตั้ง หรือมีพฤติการณ์ไปบุกรุกสถานที่ราชการไหนก็ฟ้องฐานบุกรุกฯ แต่บางคนแค่มาขึ้นเวทีปราศรัยผมก็ยังไม่รู้ว่าจะเอาข้อหาอะไร ดังนั้น สมควรที่สำนักงานอัยการฯ จะพิจารณาว่า หากยังยึดหลักความยุติธรรมอยู่ควรจะให้โอกาสจำเลย”
นายสุเทพ กล่าวต่อไปว่า ในทางกฎหมายหลักการดำเนินคดีอาญาต้องถือว่าจำเลยด้อยโอกาส เสียโอกาส พนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) อัยการมีโอกาสทำสำนวนตั้ง 4-5 ปี แจ้งข้อหามาก็ต้องให้จำเลยได้รวบรวมข้อเท็จจริงไปแสดง จำเลยจะได้ไม่เสียเวลาประกอบอาชีพ การทำหน้าที่ฐานะสื่อ ครูบาอาจารย์ จะได้ไปทำประโยชน์ให้กับสังคมตามหน้าที่ความรับผิดชอบ แทนที่จะมัดรวมมามัดเดียวแล้วต้องมาศาลทุกคนทุกนัด หากใครไม่มาสักคนก็พิจารณาคดีไม่ได้
เมื่อถามว่าการกล่าวเช่นนี้ เท่ากับต้องการจะกันแนวร่วม กปปส.ทั้ง 14 คน ออกจากข้อหาร่วมกบฏ ใช่หรือไม่ นายสุเทพ ตอบปฏิเสธว่า ตนไม่ได้พูดเช่นนั้น พวกตนประชาชนทุกคนไมใช่เฉพาะ 14 คนนี้ แต่เป็นล้านๆคนที่ออกมาต่อสู้เพื่อชาติเพื่อแผ่นดิน เรารู้แล้วว่าเราต้องเจออะไรบ้างและเราก็พร้อมเผชิญหน้ากับความเป็นจริง แต่เราขอความเป็นธรรมว่า อย่าเอาข้อหาครอบจักรวาลมาใส่ แต่ขอให้ว่าไปตามความผิดของแต่ละคน
เมื่อถามว่า ได้มีการพูดคุยกับแนวร่วม กปปส. ที่เหลืออีก 27 ราย ประสานให้มาพบกับอัยการตามวันนัดครั้งที่ 3 ในวันที่ 19 เม.ย.61 นี้หรือไม่ หลังจากเลื่อนมาแล้วถึง 2 ครั้ง “นายสุเทพ” กล่าวว่า มีความจำเป็นของแต่ละคน ซึ่งบางคนก็ต้องเดินทางไปต่างประเทศ บางคนก็มีภารกิจอย่างอื่นก็มีเหตุผลที่จะเลื่อน ส่วนตัวยังไม่ได้ประชุมพิจารณาอะไรกัน เท่าที่พูดคุยกันนี้ก็บรรดากลุ่มที่ถูกฟ้องแล้วเพราะร่วมกันกันต่อสู้คดี ซึ่งพวกเราให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา พวกตนเป็นพลเมืองดีออกมาสู้เพื่อชาติเพื่อแผ่นดิน ไม่ได้ทำอะไรที่ทำผิดคิดร้ายต่อประเทศชาติต่อประชาชน คดีอาญา
เมื่อถามถึงกรณีที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน หนึ่งในจำเลยร่วม ได้ฟ้องกลับอดีตอธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ ในความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบฯ กับการสั่งฟ้องคดีต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางนั้น นายสุเทพกล่าวว่า จริงๆ แล้วตนก็เห็นด้วย แต่ไม่ได้คุยกับนายไพบูลย์ ใจจริงตนก็คิดอยู่ว่าน่าจะทบทวนว่าสิ่งที่อัยการดำเนินการมาถูกต้องหรือไม่ ถ้าดำเนินการผิดก็ต้องถูกดำเนินคดีเหมือนกัน ตนยังคิดว่างานนี้อัยการไม่ได้ใช้ความรู้ความสามารถจิตวิญญาณในฐานะผู้อยู่ในกระบวนการยุติธรรมให้สมบูรณ์