นายธานี ยังกล่าวอีกว่า การที่อัยการสูงสุดได้มีคำสั่งยุติเรื่องร้องขอความเป็นธรรมของนายวรยุทธ เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2561 นั้น ย่อมแสดงให้เห็นชัดว่า ผลการพิจารณาของกรรมาธิการ มิได้มีอิทธิพลที่จะส่งผลให้อัยการสูงสุดเปลี่ยนแปลงคำสั่งได้ เพราะโดยบทบาทอำนาจหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัตินั้น มิได้มีอำนาจไปบงการหรือสั่งการองค์กรต่างๆได้ มีอำนาจเพียงแค่ศึกษาสอบหาข้อเท็จจริงเพื่อส่งต่อให้หน่วยงานไปดำเนินการตามอำนาจหน้าที่เท่านั้น อย่างไรก็ตาม หลังเกิดปัญหาความไม่ชัดเจนเรื่องนี้ได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาแล้ว 3 คณะทั้ง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ อัยการสูงสุด และกรรมการที่ตั้งโดยนายกรัฐมนตรี จึงขอให้สื่อมวลชนรอผลการพิจารณาของทั้ง 3 คณะต่อไป
ทั้งนี้ ภายหลังแถลงข่าวเสร็จสิ้นสื่อมวลชนพยายามสักถามถึงข้อสงสัยในหลายประเด็นเกี่ยวกับการทำหน้าที่กรรมาธิการยุค สนช. ในขณะนั้น แต่นายธานี ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็น พร้อมยกมือไหว้ขอโทษสื่อมวลชนที่การแถลงข่าวครั้งที่แล้ว อาจล่วงเกินสื่อมวลชน และได้เดินลงจากเวที โดยสื่อมวลพยายามสักถามถึง 2 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ เหตุใดกรรมาธิการขณะนั้นต้องให้อาจารย์จากมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ซึ่งมีกระแสข่าวว่ารู้จักกับทนายความของนายวรยุทธนั้น เข้ามาให้ข้อมูลและศึกษา ตั้งสมมติฐานเกี่ยวกับอัตราความเร็วรถของนายวรยุทธ จนได้ข้อมูลว่ามีความเร็วไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงคดีนี้ และ 2 กรรมาธิการได้ขณะนั้นได้มีการพิจารณากรณีพบสารแปลงปลอมในร่างการของรายวรยุทธ ที่อาจเกิดจากสารเสพติดบางประเภทหรือไม่ หลังมีการเปิดเผยข้อมูลว่าพบสารประเภทโคเคนจากการทำฟันของทันตแพทย์ แต่นายธานีพยายามบ่ายเบี่ยงไม่ให้ความเห็นในประเด็นคำถามดังกล่าว ตอบแต่เพียงขอให้รอการพิจารณาของคณะกรรมการทั้ง 3 คณะเท่านั้น