ทั้งนี้ ที่ประชุมได้หารือกันถึงแนวทางการลงพื้นที่ ซึ่งกรรมาธิการฯ บางส่วน เสนอให้ตั้งคณะอนุกรรมาธิการฯ เพื่อลงพื้นที่โดยเฉพาะ แต่บางส่วนไม่เห็นด้วย เนื่องจากกรรมาธิการฯ ควรลงพื้นที่ไปเองมากกว่า ขณะที่ กรรมาธิการฯ สัดส่วน NGO เสนอว่า ไม่จำเป็นต้องลงไปทุกเวที เพราะสามารถรับฟังความคิดเห็น
ผ่านช่องทางออนไลน์ได้ จึงมีข้อเสนอให้ตั้งคณะอนุกรรมาธิการฯขึ้นมา เพื่อรับฟังความคิดเห็นผ่านช่องทางออนไลน์โดยเฉพาะ
สำหรับข้อมูลที่กรรมาธิการฯ ได้จากการลงพื้นที่นั้น มี 3 แนวทางในการดำเนินการ โดยแนวทางแรกจะมีการถ่ายทอดสดให้ประชาชนได้รับชมถึงการปฏิบัติงานของคณะกรรมาธิการฯ ว่ากรรมาธิการรับฟังความคิดเห็นอย่างไร ได้รับการต้อนรับอย่างไร จากนั้นจะจัดทำรายงานข้อเสนอ ส่งไปยังกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
รวมทั้งหน่วยงานอื่นๆ ว่าต้องรับผิดชอบในประเด็นใดบ้าง
ส.ส.พิษณุโลก ชม นศ. เสนอแก้ รธน. เพราะมองเห็นปัญหาของประเทศ
นายนิยม ช่างพินิจ ส.ส.พิษณุโลก พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงข้อเรียกร้องหนึ่งของนักศึกษาคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า ถือเป็นประเด็นสำคัญที่นักศึกษามองเห็นปัญหาของประเทศเกิดมาจากรัฐธรรมนูญ แม้ฝ่ายที่สนับสนุนว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านการทำประชามติจากประชาชนแล้วก็ตาม แต่อยากให้พิจารณาด้วยใจเป็นธรรมมีความผิดปกติเกิดขึ้นเพราะเป็นประชามติแบบมัดมือชก ที่ผู้มีอำนาจใช้กฎหมายความมั่นคงจับกุมคุมขังคนที่รณรงค์ไม่รับรางรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ผู้มีอำนาจดำเนินการทุกวิธีที่จะให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านความเห็นชอบจากประชาชน แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นผลงานชิ้นโบว์ดำของรัฐบาล ทั้งนี้เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่เอื้อให้กับการพัฒนาประเทศ เพราะโครงสร้างสังคมไทยที่บิดเบี้ยวและไม่มีส่วนหนึ่งหรือมาตราใดที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการเขียน รัฐธรรมนูญ เป็นการจัดการของคณะผู้มีอำนาจยัดเยียดให้ประชาชนต้องรับชะตากรรม
นอกจากจุดอ่อนที่สุดของรัฐธรรมนูญ ตัดประชาชนออกจากการเลือกผู้นำประเทศ เพราะให้สมาชิกวุฒิสภาหรือ ส.ว.ที่มาจากการสรรหาของผู้อำนาจแต่งตั้งจำนวน 250 คนมาทำหน้าที่แทนประชาชนทั้ง 70 กว่าล้านคน ซึ่งเป็นการไม่ให้ความสำคัญกับอำนาจประชาชน นอกจากนี้ สว.ยังมีอำนาจในการเลือกผู้นำรัฐบาลได้ถึง 2 สมัย ดังนั้นการเขียนรัฐธรรมนูญหนีไม่พ้นเปิดทางการสืบทอดอำนาจเปิดทาง พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีนานกว่า 12 ปี หรือ 3 สมัยของรัฐบาล ปัญหาของประเทศคือ การร่างรัฐธรรมนูญที่ตัดอำนาจของ ส.ส.ไม่สามารถช่วยเหลือประชาชนได้ แม้มีประชาชนมาร้องขอความช่วยเหลือก็ไม่สามารถทำหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ ต้องนำมาหารือในสภาเท่านั้นแล้วปัญหาของประชาชนก็ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงที โดยสรุปผู้เขียนรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่เห็นหัวประชาชนและไม่ให้ความสำคัญกับการมีอยู่ของประชาชนแต่อย่างใด