เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) พล.ต.อ.ศตวรรษ หิรัญบูรณะ ที่ปรึกษาพิเศษ ตร. พล.ต.ท.จารุวัฒน์ ไวศยะ ผู้ช่วย ผบ.ตร. พล.ต.ท.สมชาย พัชรอินโต ผบช.กมค. พล.ต.ต.ปอยะ ต๊ะวิชัย รอง ผบช.น. ประชุมตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ ของข้าราชการตำรวจกรณีสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือบอส ทายาทเครื่องดื่มชูกำลัง ว่าเป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ และคำสั่งที่เกี่ยวข้องหรือไม่
พล.ต.อ.ศตวรรษ กล่าวก่อนการประชุมว่า วันนี้เป็นการประชุมนัดแรก ตนจะมาขอทราบข้อเท็จจริงก่อน ซึ่งจากนี้จะมีการประชุมทุกวันตามกรอบระยะเวลา 15 วัน ที่ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ให้ไว้ โดยหลังการประชุมจึงจะสามารถชี้แจงรายละเอียดได้
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่ามีทางเป็นไปได้ที่ตำรวจจะมีสามารถมีความเห็นสแย้งอัยการได้หรือไม่ พล.ต.อ.ศตวรรษ กล่าวว่า ขอประชุมหารือก่อน
สำหรับรายชื่อคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จำนวน 10 ราย ที่ ผบ.ตร. แต่งตั้งขึ้น ประกอบด้วย 1. พล.ต.อ.ศตวรรษ หิรัญบูรณะ ที่ปรึกษาพิเศษ ตร. ประธานกรรมการ 2.พล.ต.ท.จารุวัฒน์ ไวศยะ ผู้ช่วย ผบ.ตร. รองประธานกรรมการ 3.พล.ต.ท.สมชาย พัชรอินโต ผบช.กมค. กรรมการ 4.พล.ต.ท.กฤษณะ ทรัพย์เดช จเรตำรวจ กรรมการ 5.ผบช.น. หรือ รอง ผบช.น. ที่ได้รับมอบหมาย กรรมการ 6.ผบก.น.5 หรือ รอง ผบก.น.5 ที่ได้รับมอบหมาย กรรมการ 7.พ.ต.อ.อมร ศรีทุนะโยธิน รอง ผบก.ภ.จว.สระบุรี กรรมการ 8.พ.ต.อ.ดนุ กล่ำสุ่ม รอง ผบก.สำนักงานกฎหมายและคดี กรรมการและเลขานุการ 9.พ.ต.ท.เจริญศักดิ์ ลีสนธิไชย รอง ผกก.กลุ่มงานผู้เชี่ยวชาญคดีอาญา กองคดีอาญา สำนักงานกฎหมายและคดี กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ และ 10.พ.ต.ท.วิมลทิพย์ บุรี สว.ฝ่ายอำนวยการ1 บก.อก.บช.น. กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
ภายหลังประชุมเสร็จพล.ต.อ.ศตวรรษ หิรัญบูรณะ ที่ปรึกษาพิเศษ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ พล.ต.ท.จารุวัฒน์ ไวศยะ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่แย้งคำสั่งไม่ฟ้องเด็ดขาดของอัยการ กรณี นายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ บอส ทายาทเครื่องดื่มชูกำลัง ข้อหาขับรถประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ในคดีขับรถชนตำรวจเสียชีวิต เมื่อปี 2555 โดยยอมรับว่า ความเห็นที่ไม่แย้งคำสั่งเด็ดขาดของอัยการในคดีนี้ ขณะนี้ ถือว่าคดีสิ้นสุด ไม่สามารถแก้ไข หรือเปลี่ยนแปลงความเห็นได้อีก ยืนยัน การพิจารณาความเห็นที่อัยการส่งมา เป็นการพิจารณาความถูกต้องในข้อกฎหมาย และดูข้อเท็จจริง ไม่มีอำนาจตรวจสอบความเห็นของอัยการ หรือขอให้อัยการอธิบายเหตุผลของการสั่งคดีได้ เพราะเป็นการถ่วงดุลอำนาจในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้ จะทำหน้าที่สืบหาข้อเท็จจริงว่า การใช้ดุพินิจของ พล.ต.ท.เพิ่มพูน ชิดชอบ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แต่ ไม่มีอำนาจหน้าที่ที่จะรื้อฟื้น หรือสืบสวนเพิ่มเติมเพราะคดีผ่านชั้นสืบสวนของตำรวจมาแล้ว
ด้าน พล.ต.ท.จารุวัฒน์ กล่าวว่า พนักงานสอบสวน ไม่เกี่ยวข้องกับพยานใหม่ 2 ปาก เนื่องจาก อัยการเป็นฝ่ายมีคำสั่งให้พนักงานสอบสวน สอบปากคำเพิ่ม หลังผู้ต้องหายื่นร้องขอความเป็นธรรมกับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พนักงานสอบสวน จึงทำตามขั้นตอนที่อัยการกำหนดเท่านั้น โดยไม่สามารถก้าวล่วงกับการให้น้ำหนักกับพยาน 2 ปากนี้ พร้อมยอมรับว่า ที่ผ่านมา คดีร้อยละ 97 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีความเห็นไม่แย้ง มีเพียงร้อยละ 3 ที่เห็นแย้ง และโดยทั่วไป ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้มอบหมายให้รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รับผิดชอบคดีตามเขตอำนาจของพนักงานอัยการ จึงสามารถมีความเห็นแย้งหรือไม่แย้งคดีได้ ถือว่า ความเห็นเป็นอันสิ้นสุด
พร้อมยืนยันว่า คณะกรรมการชุดนี้ ไม่ใช่การฟอกขาวการไม่แย้งคำสั่งของอัยการของ พล.ต.ท.เพิ่มพูน แต่จะทำข้อเท็จจริงให้ปรากฎต่อสาธารณชน และให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และให้สังคมเข้าใจว่า คณะกรรมการทำอะไรบ้าง โดยจะประชุมทุกวัน และแถลงข่าวให้ทราบเป็นระยะ
ทั้งนี้ คณะกรรมการจะพิจารณาใน 3 แนวทาง คือ 1.การสอบสวนและความเห็นชั้นพนักงานสอบสวน 2.การสอบสวนเพิ่มเติมตามความเห็นของอัยการ 3.การตรวจสอบการใช้ดุลพินิจไม่แย้งสำนวน ว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ พร้อมระบุว่า ผลการตรวจสอบของคณะกรรมการฯ จะไม่มีผลต่อคดีความ เพราะคดีสิ้นสุดแล้ว หลังตำรวจมีความเห็นฟ้อง และจะไม่เกี่ยวข้องกับผลการตรวจสอบของอัยการสูงสุด แต่หากพบว่า คณะกรรมการ มีการใช้ดุลยพินิจไม่ชอบ ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาความผิดทางวินัยและอาญาต่อไป
สำหรับคดีนี้ แม้ทางกระบวนการของ ตำรวจ แต่ครอบครัวผู้เสียหาย ยังสามารถฟ้องร้องคดีต่อศาลได้เอง ตามกระบวนการยุติธรรม