นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊คส่วนตัว ‘สมชัย ศรีสุทธิยากร Fan page‘ กล่าวถึงประเด็นที่ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ลงคะแนนเสียงเพื่อส่งมติ ส่ง พ.ร.ป. ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ร่างดังกล่าว มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
นายสมชัย กล่าวต่อประเด็นดังกล่าวว่า สนช. 5 แบบ มติของ สนช.ในวาระ 3 ที่ให้ความเห็นชอบ ร่าง พรป.ส.ว. เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2561 เห็นด้วย 202 เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียง งดออกเสียง 13 เสียง รวม 216 เสียง จาก สนช. 248 คน (ขาดประชุม 32 คน) การลงชื่อของ สนช. เพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ร่างดังกล่าว มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญจะต้องใช้เสียง สนช.ร้อยละ 10 หรือ คิดเป็นจำนวน 25 คน ซึ่งตามจากข่าวมี 30 สนช.ที่ร่วมลงชื่อ ใน 30 คนนี้ อาจประกอบด้วย สนช.หลายแบบ
แบบที่ 1. ถ้าเป็น 1 เสียง ที่ลงมติไม่เห็นด้วย ต้องขอคารวะ เนื่องจากท่านเป็น สนช.ที่มีจุดยืนชัดเจนมั่นคง กล้าที่จะโหวตไม่เห็นด้วย (หากไม่กดผิด) และ กล้าที่ยืนหยัดความเห็นอย่างถึงที่สุด สมควรได้รับการยกย่องในด้านจุดยืนการทำงาน
แบบที่ 2 ถ้าเป็นหนึ่งใน 13 เสียงที่งดออกเสียง แสดงว่าท่านเองในวันลงมติลึกๆอาจไม่เห็นด้วย แต่ไม่กล้าแสดงออกอย่างชัดเจนในการลงมติ ด้วยเหตุผลที่ไม่อาจคาดการณ์ได้. แต่เมื่อมีโอกาสในการลงชื่อเพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญ ท่านกล้าใช้โอกาสดังกล่าวในการแสดงถึงจุดยืนที่ลึกๆของท่าน
แบบที่ 3 ถ้าท่านเป็นหนึ่งใน 202 เสียงที่ลงมติเห็นด้วย แล้วกลับมาร่วมลงชื่อถึงศาลเพื่อขอให้วินิจฉัย แปลว่าท่านมีปัญหาในกระบวนการคิดที่กลับไปกลับมา หรือ มีปัญหาในกระบวนการตัดสินใจที่ไม่ไตร่ตรองให้รอบคอบครบถ้วน พร้อมเปลี่ยนใจใหม่เมื่อมีข้อมูลใหม่หรือเมื่อมีคนมีขอร้องหรือสั่งการ เป็นอาการที่น่าเป็นห่วงสำหรับคนที่มีหน้าที่ออกกฎหมายสำคัญของบ้านเมืองแต่ไม่นิ่ง
แบบที่ 4 ถ้าท่านเป็นหนึ่งใน 32 คน ที่ขาดประชุม แต่กลับมาใช้สิทธิในการลงชื่อถึงศาลรัฐธรรมนูญ ท่านเป็นกลุ่มที่สังคมควรตรวจสอบอย่างยิ่งว่า ในการลงมติที่เป็นกฎหมายสำคัญของบ้านเมือง ท่านมีเหตุความจำเป็นประการใดในการขาดประชุม หากตรวจสอบแล้วพบว่าขาดประชุมเป็นนิตย์ ลากิจเป็นนิสัย ขนาดการประชุมนัดใหญ่ยังไม่เข้าร่วม แต่มาแสดงความห่วงใยบ้านเมืองด้วยการลงชื่อ ท่านควรใช้สิทธิในการลาออก ดีกว่าการใช้สิทธิเข้าชื่อถึงศาลรัฐธรรมนูญ แต่หากท่านมีเหตุผลจำเป็นที่สำคัญมากและจำเป็นจริงๆในการขาดประชุม ก็สมควรยกย่องท่านที่แม้ผลการประชุมมีมติเห็นด้วยกับ พรป.ส.ว.แล้ว ท่านยังใช้สิทธิของท่านเพื่อทำให้ กฎหมายออกมาดีที่สุดตามที่โอกาสอำนวย
“สื่อมวลชน ช่วยลงข่าวเกี่ยวกับชื่อ สนช.ที่ร่วมลงนามและจำแนกประเภทให้หน่อยครับ แต่สำหรับผม อยากรู้ชื่อเดียวว่า คุณสมชาย แสวงการ สนช.สายสื่อ อยู่ในกลุ่มไหน หวังว่า ท่านคงอยู่เป็น 1 ใน 30 ชื่อที่ยื่น โดยหากไม่เป็นแบบ 1 ก็แบบ 2 ที่ผมชื่นชม และหวังว่าคงไม่เป็นแบบที่ 5 คือ ยุให้คนอื่นยื่น แต่ตัวเองหลบอยู่ในมุม”