อย่างไรก็ตาม ตนเองมีความกังวล จึงมีข้อเสนอ 2 ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะต้องรับฟังหากคิดจะตั้งนางนฤมลเป็นรัฐมนตรี คือ 1.ความล้มเหลวในการทำหน้าที่เป็นโฆษกรัฐบาล การสื่อสารข้อมูลไปยังประชาชน ซึ่งได้รับการตัดสินแล้วว่ามีปัญหา 2.การเดินข้ามพื้นที่นักวิชาการมาสู่พื้นที่การเมืองซึ่งเป็นพื้นที่สีเทาอันใกล้ชิดกับนักการเมือง อย่างการเป็นหนึ่งในขบวนการเชิญพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ มาเป็นหัวหน้าพรรคการเมือง และสังคมก็มองว่ามีส่วนที่ทำให้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และกลุ่มสี่กุมาร ต้องอัปเปหิตัวเองออกจากการเมือง ตรงนี้ทางวัฒนธรรมการเมืองไทยยังยึดถือเรื่องความกตัญญู รู้คุณ เช่นเดียวกับกรณี “แรมโบ้อีสาน” ที่เคยอยู่เสื้อแดงก่อนย้ายมาขั้วรัฐบาลฝั่งตรงข้าม ดังนั้นนางนฤมลจะอยู่ในภาวะเดียวกัน
ส่วนนางนฤมล ที่มีกระแสข่าวไปนั่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน นั้น มองว่าไม่มีความจำเป็น เพราะเป็นกระทรวงเล็ก มีเพียง 3 กรม และกองต่างๆ ไม่มาก รัฐมนตรีว่าการคนเดียวก็เอาอยู่แล้ว จะเอาไปอัดเพื่อหาที่ลงและให้แย่งการทำงานทำไม ดังนั้น นายกรัฐมนตรี ต้องดูทุกตำแหน่งให้ประชาชนมั่นใจ เพราะการปรับ ครม. รอบนี้เป็นการเดิมพันอนาคตทางการเมือง เพราะจะเป็นเงื่อนไขหรือชนวนให้ขบวนการนิสิตนักศึกษาที่กำลังชุมนุม ซึ่งกำลังจับตามองว่ารัฐบาลมีความจริงใจหรือไม่ หากคนชื่อที่สังคมยี้เป็นรัฐมนตรี จะเข้าทางผู้ชุมนุมว่ารัฐบาลต้องการอยู่ต่อต้องการสืบทอดอำนาจโดยไม่สนใจรับฟังความคิดเห็นประชาชน แต่งตั้งคนโดยตอบแทนฝ่ายการเมืองมากจนเกินไป
ซึ่งการเป็น ส.ส. สมัยแรก การได้รับโอกาสเป็นโฆษกรัฐบาลน่าจะเพียงพอแล้ว ฉะนั้นการมีภาพเดินติดตามหลังผู้ใหญ่ ทำให้คนมองว่ามีความพยายามอยากจะโตแบบก้าวกระโดด ซึ่งจริงๆ แล้ว นางนฤมลควรจะเติบโตในตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมืองมากกว่า เพราะความล้มเหลวในการทำหน้าที่โฆษกรัฐบาลแล้ว อยากจะเป็นเสนาบดีกระทรวงอย่างรัฐมนตรีช่วยแรงงาน มันไม่ตอบโจทย์สิ่งที่ทำอยู่ในปัจจุบัน