คาดว่าการทดลองดำเนินการในเฟส 4 ที่ให้เอกชนเริ่มสามารถแลกเงินบาทเป็น CBDC ได้และใช้โอนชำระระหว่างกันโดยตรง โดยไม่ผ่านตัวกลางอย่างธนาคารพาณิชย์ จะสามารถได้ข้อสรุปภายในปีนี้ ซึ่งจะทำให้ ธปท.เห็นภาพชัดเจนขึ้นว่า หากต้องการนำ CBDC มาใช้กับรายย่อย ควรจะมีการออกแบบระบบการทำงานอย่างไร เพราะในขณะนี้ในโลกมีหลายประเทศที่ดำเนินการในลักษณะรายย่อยที่แตกต่างกัน
ผู้ช่วยผู้ว่าการธปท. สายตลาดการเงิน กล่าวต่อว่า นอกจากการทดลองของบริษัทเอกชน ซึ่งเป็นเฟสที่ 4 แล้ว อีกโครงการหนึ่งที่จะทำคือ การต่อยอดการทดลองในเฟส 3 ในการใช้ CBDC โอนเงินข้ามประเทศ ซึ่งในขณะนี้เราได้ทดลองโอนเงินกับธนาคารกลางฮ่องกง โดยโค้ดราคาเดียวอัตราแลกเปลี่ยนบาทและดอลลาร์ฮ่องกง ซึ่งการทดลองที่ผ่านมาทำได้ดีในระดับหนึ่ง โดยในช่วงต่อไปจะทดลองการทำธุรกรรมที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งการอาจจะเพิ่มธนาคารกลางประเทศอื่นๆ เข้ามาในวงของการใช้เงินดิจิทัลข้ามประเทศให้มากขึ้น
นางสาววชิรา ยังกล่าวถึง เงินสกุลลิบรา ของเฟสบุ๊ก ว่า หลังจากที่เฟสบุ๊กได้ริเริ่มจัดตั้งเงินดิจิทัลของตัวเองขึ้นมา และได้หารือกับธนาคารกลางทั่วโลก เป็นการจุดประกายให้ธนาคารกลางให้ความสนใจให้การใช้เงินดิจิทัลมากขึ้น และมีหลายธนาคารกลางที่กำลังสร้างเงินดิจิทัของตนเอง ซึ่งจากการหารือกับธนาคารกลางในรอบแรก เฟสบุ๊กเองก็เข้าใจมากขึ้นว่า จะต้องเข้าสู่ระบบและกฎเกณฑ์ของธนาคารกลางแต่ละประเทศ ซึ่งมีความยากง่ายแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ โดยในส่วนของไทยนั้น คิดว่าความร่วมมืออาจะเกิดขึ้นได้ยาก และต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจ รวมทั้งปรับกฎหมายต่างๆ ใน พ.ร.บ.เงินตรา ของไทย และหลายๆ ประเทศให้เข้ากับเงินแบบใหม่ ซึ่งไม่ง่ายและเกี่ยวข้องในหลายภาคส่วน