ที่รัฐสภา นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังนายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เตรียมส่งข้อสังเกตต่อร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.ว่า ขณะนี้ตนยังไม่ได้รับหนังสือ ต้องรอดูรายละเอียดก่อนว่าเห็นแย้งอย่างไร
ประธานสนช. กล่าวว่า ตอนที่อยู่ในชั้นการพิจารณาของสภา ก็ได้ยินว่ากรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย ทั้งกรธ. สนช. และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กกต.) มีความร่วมมือกันแก้ไขบทบัญญัติต่างๆ ให้หมดจากข้อกังวล ไม่มีกมธ.คนไหนอภิปรายคัดค้านว่าขัดรัฐธรรมนูญเลย หากอภิปรายอย่างหนักแน่น ตนคิดว่าจำนวนสมาชิกที่จะไม่เห็นด้วยอาจมีมากกว่าที่ปรากฏ จะเห็นว่าเป็นไปอย่างประนีประนอม ทำให้สมาชิก รวมทั้งตนสบายใจและออกมาพูดว่าไม่มีปัญหา
“ผมไม่อยากพูดว่าหากประเด็นเหล่านี้ได้พูดกันจบในชั้นกมธ. ก็อาจมีผลที่แตกต่างจากนี้ แต่เมื่อประธานกรธ.ส่งมาตอนนี้ ทางแก้ไขมีทางเดียวคือยื่นศาลรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องที่สมาชิกต้องว่ากันเอง ผมไปชี้นำไม่ได้ ทุกคนจับจ้องว่าจะทำให้เลื่อนโรดแม็ป ยื้อการเลือกตั้ง ซึ่งการยื้อหรือเลื่อนโรดแม็ป ทุกคนมองมาที่ตัวประธานสนช.เป็นหลัก แต่ประธานไม่มีสิทธิบอกหรือบังคับสมาชิกว่าให้ยื่นหรือไม่ยื่น” นายพรเพชร กล่าว
นายพรเพชร กล่าวว่า ตนตั้งใจว่าจะยื่นร่างกฎหมายทั้งสองฉบับให้นายกฯ ในวันที่ 14 มี.ค. แต่บังเอิญตอนตรวจร่างเมื่อเช้าพบถ้อยคำไม่ตรงกันไม่สอดคล้องกันจึงต้องปรับร่าง ประกอบกับนายมีชัย ยื่นข้อสังเกตมาแบบนี้ก็ต้องให้สมาชิกดูก่อนว่าจะเอาอย่างไร ทั้งนี้ตนห่วงใยว่าถ้ายื่นร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.จะกระทบโรดแม็ป ตนจึงต้องคิดมากแต่ก็ไม่รู้แล้วแต่สมาชิกว่าจะเห็นอย่างไร ส่วนร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. หากยื่นศาลรัฐธรรมนูญจะไม่กระทบ
ส่วนข้อกังวลว่าถ้ายื่นแล้วศาลให้แก้ ใครจะเป็นคนแก้นั้น นายพรเพชร กล่าวว่า ถ้าไม่มีใครแก้สนช.ก็ต้องแก้ แต่ตามขั้นตอนเราคิดว่ากรธ.ต้องแก้ เพราะกรธ.เป็นเจ้าของร่างแต่แรก แต่ถ้ากรธ.ไม่แก้ เราก็ต้องแก้ ต้องหาคนแก้จนได้
เมื่อถามหากกฎหมายประกาศใช้แล้วมีผู้ร้องภายหลังใครจะแก้ นายพรเพชร กล่าวว่า รัฐบาลที่รับผิดชอบอยู่ตอนนั้นต้องไปดูว่าจะแก้อย่างไร