เมื่อวานนี้ (10 มี.ค) พ.ต.อ.ธีรุตม์เทวัญ มังคละวัชร์ ผู้กำกับการฝ่ายอำนวยการ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิด เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ผกก.ฝอ.บก.ปทส.) โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊คส่วนตัว ‘Dirutdevan Mangalavach‘ กล่าวต่อในตอนที่ 2 ถึงประเด็นการดำเนินคดี นายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหารและกรรมการบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ผู้ต้องหาคดีล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรฝั่งตะวันตก จ.กาญจนบุรี และกระแสสังคมที่มีการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับคดีดังกล่าว
พ.ต.อ.ธีรุตม์เทวัญ กล่าวต่อในตอนที่ ว่า สัตว์ป่าที่กฎหมายดูแลคุ้มครอง “เสือดำ” อยู่ดีๆ ไม่ใช่จะได้รับการคุ้มครอง ก็เหมือนสัตว์ป่าอื่นๆ ไม่ใช่ทุกชนิดจะได้รับการคุ้มครองตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 มันมีรายละเอียดย่อยอีกเล็กน้อยที่จะเล่าสู่กันฟังต่อไป ที่จริงแล้วก่อนหน้านี้มีกฎหมายชื่อเดียวกัน แต่เป็น พ.ศ.2503 ซึ่งฉบับปี 2535 ออกมายกเลิกฉบับเดิมโดยมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือ เพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับสัตว์ป่าตามอนุสัญญาไซเตส เพราะเราเป็นสมาชิกเขาแต่กฎหมายเรากลับไม่มีบทคุ้มครอง เราจึงถูกกดดัน สัตว์ป่า ที่มีมาตรการคุ้มครองดูแลภายใต้กฎหมายสัตว์่ป่า อาจจะแบ่งง่ายๆ เป็น 3 กลุ่ม คือ สัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง
สัตว์ป่าชนิดที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ซึ่ง 2 กลุ่มแรก มีนิยามกำหนดไว้ตามมาตรา 4 ส่วนกลุ่มหลัง ไม่มีนิยาม แต่กล่าวถึงไว้ในมาตรา 23
พ.ต.อ.ธีรุตม์เทวัญ กล่าวว่า “สัตว์ป่าสงวน” หมายความว่า สัตว์ป่าที่หายากตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้ และตามที่จะกำหนดโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา สัตว์ป่าสงวน เป็นชนิดที่หายาก ใกล้สูญพันธุ์ บางชนิดสูญพันธุ์ไปแล้ว และมีกำหนดแค่ 15 ชนิด ซึ่งถ้าเราอ่านข่าวปัจจุบัน สื่อมักจะเรียกผิดบ่อยๆ เช่น “ตำรวจจับหนุ่มค้าสัตว์สงวน… บลา บลา บลา” ซึ่งจริงๆ แล้ว สัตว์ป่าสงวนตามบัญชีท้ายกฎหมาย มีแค่ 15 ชนิด เช่น กระซู่ ละมั่ง พะยูน ฯลฯ ใครสนใจก็ไปดูบัญชีท้ายกฎหมาย หรือจะเข้าไปดูที่เว็บไซต์กรมอุทยานฯ ก็ได้ นอกจากบัญชีท้ายกฎหมายแล้ว ยังสามารถประกาศเพิ่มเติมได้โดยตราเป็น พระราชกฤษฎีกา ซึ่งจนถึงปัจจุบันมีเพียงร่างเสนอเพิ่มเติมสัตว์ป่าสงวน 4 ชนิด คือ วาฬบรูด้า วาฬโอมุระ ฉลามวาฬ และ เต่ามะเฟือง แต่เห็นว่ายังอยู่ระหว่างพิจารณา เพราะฉะนั้น ฝากไปยังสื่อหรือใครๆ ก็แล้วแต่ เวลาพูดถึงสัตว์ป่าสงวน ก็เช็คซะหน่อยก่อนนะครับ
พ.ต.อ.ธีรุตม์เทวัญ กล่าวเพิ่มว่า “สัตว์ป่าคุ้มครอง” หมายความว่า สัตว์ป่าตามที่กฎกระทรวงกำหนดให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง สัตว์ป่าคุ้มครอง ก็คือสัตว์ป่าที่ทางราชการเห็นว่าไม่ถึงกับใกล้สูญพันธุ์แต่ควรคุ้มครองดูแล โดยจะออกเป็นกฎกระทรวง ซึ่งฉบับหลัก คือ กฎกระทรวง กำหนดให้เป็นสัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง พ.ศ. 2546 ประกอบด้วยสัตว์ป่าจำพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 201 ชนิด นก 952 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน 91 ชนิด สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก 12 ชนิด แมลง 20 ชนิด ปลา 14 ชนิด และสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังอื่น ๆ 12 ชนิด เสือดำ ที่กำลังดังก็อยู่ขณะนี้ ก็เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองที่กำหนดไว้ในบัญชีท้ายกฎกระทรวง ปี 2546 นี้ โดยเป็นจำพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ลำดับที่ 182 ซึ่งกำหนดไว้ว่า “เสือดาว หรือ เสือดำ (Panthera pardus)” จะไม่อธิบายเพิ่มเติมว่าเสือดาวกับเสือดำ ก็คือชนิดเดียวกันนั่นเอง เพราะมีคนอธิบายไว้น่าจะเยอะแล้วตอนเป็นข่าวใหม่ๆ ที่อยากจะเล่าก็คือ ถ้าสังเกตบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง จะเห็นภาษาอังกฤษในวงเล็บต่อท้าย ซึ่งก็คือชื่อวิทยาศาสตร์ ใครที่เคยเรียนชีววิทยา ก็คงรู้ว่ามีการแบ่งอาณาจักรพืชและสัตว์เป็นลำดับๆ เช่น ไฟลัม จนลงมาถึงสปีชีส์และซับสปีชีส์
พ.ต.อ.ธีรุตม์เทวัญ กล่าวถึงท้ายว่า ที่ต้องกำหนดชื่อวิทยาศาสตร์กำกับไว้ เพราะแต่ละท้องถิ่นอาจจะเรียกสัตว์ชนิดนั้นๆ ต่างกัน เช่น ตัวนิ่ม บางที่เรียกว่าลิ่น เป็นต้น จึงต้องกำกับไว้เพื่อความชัดเจน เห็นมั้ยครับว่าไม่ใช่สัตว์ป่าทุกชนิดที่กฎหมายสัตว์ป่าดูแลคุ้มครอง สัตว์ป่าคุ้มครอง บางชนิดก็มีคนนิยมเลี้ยง ทั้งๆ ที่ผิดกฎหมาย เช่น นกปรอดหัวจุก นาก นางอาย ฯลฯ บางชนิดก็ถูกนำมาปล่อยทำบุญ เช่น นกกระติ๊ด เต่านา เต่าดำ ซึ่งก็ผิดกฎหมายอีกเช่นกัน แต่พอเจ้าหน้าที่จับกุมก็มักจะมีเสียงโอดครวญ บางทีก็เข้ามารุมด่าในเว็บไซต์เฟสบุ๊คของหน่วยงานที่จับ
“จึงอยากจะฝากไว้ก่อนจบตอนนี้ว่า อย่าเพียงแต่ตามกระแสคดีเสือดำ ยังมีสัตว์ป่าที่กฎหมายคุ้มครองอีกจำนวนมาก ถูกละเมิดถูกกระทำอย่างผิดกฎหมาย” พ.ต.อ.ธีรุตม์เทวัญ กล่าว