ศาสตราจารย์ ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล ให้ทัศนะว่า วันสิ่งแวดล้อมโลกปีนี้ ให้ความสำคัญกับเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ (Bio Diversity) ซึ่งมีผลมาจากปัญหาไฟป่าที่เกิดขึ้นในพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงระดับโลกอย่างประเทศออสเตรเลีย และป่าอเมซอน สาเหตุสำคัญของปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ความแปรปรวนของสภาพอากาศทั่วโลก และคุณภาพชีวิตที่แย่ลงของสิ่งมีชีวิต ไม่ว่าจะคน สัตว์ หรือพืช ซึ่งการดำเนินการของทุกองค์กรหลังจากจบวิกฤตโควิด-19 นี้จะต้องปรับตัวเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงและการดำเนินชีวิตปกติในรูปแบบใหม่ (New Normal) โดยต้องนำแผนธุรกิจ แผนความยั่งยืน และแผนการดำเนินชีวิตแบบ New Normal มาปรับใช้ควบคู่กันอย่างสมดุล เพื่อนำไปสู่การเป็นองค์การแห่งความยั่งยืนอย่างแท้จริง
ด้านคุณติ๊ก เจษฎาภรณ์ ผลดี ให้แนวคิดว่า ปัจจุบันทั่วโลกให้ความสำคัญกับการรณรงค์ด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติมากขึ้น แต่เราก็ยังคงพบกับเหตุการณ์ไฟป่า การทิ้งขยะ หรือการทำลายสิ่งแวดล้อมอยู่การใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเหลือในการป้องกันปัญหาสิ่งแวดล้อมถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ควรดำเนินการควบคู่ไปกับการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีของมนุษย์และการบังคับใช้กฎหมายร่วมกัน ทั้งนี้ควรเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้าไปเที่ยวตามแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ เพื่อเรียนรู้เสริมสร้างประสบการณ์ในการดูแลรักษาธรรมชาติ สามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างกลมกลืน
คุณพิมพรรณ ดิศกุล ณ อยุธยา ได้ถ่ายทอดประสบการณ์จากการร่วมพัฒนาดอยตุง จังหวัดเชียงรายว่า ปัจจัยที่ทำให้คนอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืนคือ ต้องขจัดความยากจน เข้าใจวิถีชีวิต ลักษณะพื้นที่ และระบบสาธารณูปโภค ซึ่งต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากทั้งชุมชน ภาครัฐ และภาคเอกชนในการแก้ปัญหา สำหรับในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา นโยบายอยู่บ้านของประชาชน ทำให้มีขยะพลาสติกจากการสั่งซื้ออาหารออนไลน์จำนวนมาก ทางเครือข่ายจึงจัดทำโครงการพลาสติกกลับบ้านเพื่อนำพลาสติกมารีไซเคิลวนใช้ใหม่ โดยสามารถนำไปส่งได้ที่จุดรับฝากของภาคเอกชนที่มาร่วมเป็นจิตอาสา
ด้านคุณปิยะชาติ อิศรภักดี กล่าวว่า กลยุทธ์ที่จะช่วยให้ภาคธุรกิจก้าวข้ามวิกฤตครั้งนี้ คือ การหาความสมดุลระหว่างธุรกิจ สิ่งแวดล้อม และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อให้เกิดความร่วมมือ เพราะในอนาคตคนจะสนใจความสำเร็จทางธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจที่ส่งผลดีต่อคนในสังคมและสิ่งแวดล้อมซึ่งจะนำมาสู่ความเชื่อมั่นต่อองค์กรและเอื้อให้ธุรกิจเติบโต
งานสิ่งแวดล้อม กฟผ. ปีนี้ ยังถือเป็นครั้งแรกที่ กฟผ. จัดสวนนิทรรศการออนไลน์ (E-Exhibition) เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้สิ่งแวดล้อมด้านพลังงานแบบ New Normal ที่จะให้ความรู้สึกเสมือนได้เดินเยี่ยมชมนิทรรศการในสวนด้วยตัวเอง ภายใต้แนวคิด “Action for Green รักษ์โลกให้เรียนรู้” โดยรวบรวมความรู้และความสนุกมาไว้ถึง 16 จุด เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า (EV Car) ซึ่งผู้เข้าชมจะได้พบกับชุดประกอบรถไฟฟ้าดัดแปลงที่จะเปลี่ยนรถยนต์เก่าให้เป็นรถไฟฟ้าในต้นทุนไม่เกิน 2 แสนบาท เยี่ยมชม EGAT Green Building ภายในอาคาร ท.103 ซึ่งเป็นอาคารอนุรักษ์พลังงานที่ออกแบบตามมาตรฐาน LEED ของประเทศสหรัฐอเมริกา ให้ประหยัดพลังงาน ช่วยลดความร้อนเข้าสู่ตัวอาคาร นอกจากนี้ภายในนิทรรศการได้ยกความสวยงามจากกังหันลมลำตะคองที่ใช้ผลิตไฟฟ้าจากบนยอดเขายายเที่ยง จ.นครราชสีมา มาไว้บนหน้าจอเสมือนไปเยือนด้วยตาตนเอง รวมถึงโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำแบบไฮบริดที่ใหญ่ที่สุดในโลกจากเขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี ซึ่งผสมผสานการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ลอยน้ำและพลังน้ำจากเขื่อน ช่วยเสริมความมั่นคงกับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ทั้งนี้ หากเยี่ยมชมนิทรรศการครบทุกจุดระหว่างวันที่ 5-12 มิถุนายน 2563 ยังสามารถลุ้นรับของรางวัลได้อีกด้วย โดยผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมนิทรรศการได้ทาง https://e-exhibition.egat.co.th/
“กฟผ. เชื่อมั่นว่า การอนุรักษ์พลังงานเป็นการเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุด ทุกคนสามารถเริ่มได้ที่ตนเองโดยปรับตัวตามวิถีแนวทางใหม่ ซึ่งตลอดระยะเวลา 51 ปี กฟผ. ดำเนินกิจการโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของชุมชนเป็นหลัก และในวิกฤตโควิด-19 นี้ กฟผ. ขอเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนสังคมด้วยกิจกรรมต่าง ๆที่สร้างสรรค์ขึ้นมาภายใต้แคมเปญ “Stop COVID Fast Restart Faster หยุดได้ไว เริ่มใหม่ได้เร็ว”