นพ.ระวี กล่าวด้วยว่า รัฐธรรมนูญ 2560 มีความแตกต่างจากรัฐธรรมนูญ 2550 ตรงที่ไม่มีการกำหนดให้รัฐบาลนำกรอบเจรจามาขอความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน มีเพียงมาตรา 178 ที่ได้กำหนดให้รัฐบาลขอความเห็นชอบการลงนามในสัญญาในการเข้าร่วมสนธิสัญญาเท่านั้น และยังได้กำหนดว่าหากรัฐสภาพิจารณาไม่แล้วเสร็จภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง ให้ถือว่ารัฐสภาให้ความเห็นชอบ ซึ่งส่งผลสภาผู้แทนราษฎรไม่ได้มีส่วนร่วมในการกำหนดกรอบเจรจา ทั้งที่เป็นตัวแทนของประชาชนที่ได้รับเลือกเข้ามาทำหน้าที่ในสภา
อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงได้เสนอญัตตินี้เป็นญัตติด่วน เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณานั้น ถือเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะจะส่งผลกระทบต่อประชาชนในประเทศโดยตรง เช่น ระบบสาธารณสุข สิทธิบัตรยา สินค้าการเกษตร กลไกระงับข้อพิพาทนักลงทุนต่างชาติ และถ้าหากดำเนินการผิดพลาดประเทศจะต้องเสียประโยชน์จากการเข้าร่วมข้อตกลงฉบับนี้ จึงมีความจำเป็นที่สภาควรต้องแต่งตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมข้อตกลงที่ครอบคลุม และก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) เพื่อให้ตัวแทนของประชาชนได้ช่วยพิจารณาศึกษาอย่างรอบคอบ โดยเร็วให้ทันกับการที่รัฐบาลต้องลงนามในข้อตกลงฉบับนี้