เมื่อวันที่ 30 เม.ย. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.ท.ปิยะ อุทโย ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำวจแห่งชาติ และโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงมาตรการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการบังคับใช้กฎหมายในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ภายหลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรออกไปอีก 1 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 1พ.ค.-31 พ.ค. ว่า เรื่องดังกล่าวว่า พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ผอ.ศปม,) และ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ได้เน้นย้ำว่าถือเป็นภารกิจสำคัญของฝ่ายความมั่นคงและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่จะต้องร่วมสนับสนุนการดำเนินการของรัฐบาล และศูนย์บริหารสถานการณ์การแพระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ในการบังคับใช้กฏหมายเพื่อป้องกันและลดการแพร่ระบาดของเชื้อ COVD-19
โดยได้กำหนดเป็น มาตรการสำคัญของฝ่ายความมั่นคง จำนวน 3 เรื่องหลักๆ ประกอบด้วย 1.สายตรวจร่วม ทั้งนี้ฝ่ายความมั่นคงจะปรับการปฏิบัติ โดยเปลี่ยนจากการ ตั้งรับเป็น รุกเข้าสู่ปัญหา โดยตำรวจจะร่วมกับ กรุงเทพมหานคร จังหวัด ฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่ทหาร สาธารณสุข และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง จัดให้มีชุดปฏิบัติการร่วมในลักษณะ ชุดเคลื่อนที่เร็ว หรือ ชุดปฏิบัติการควบคุมโรคติดต่อ ตามคำสั่งและประกาศที่เกี่ยวข้อง เพื่อเข้าไปดำเนินการในกรณีต่างๆ ใน 4 แนวทาง คือ
1. การสุ่มตรวจสอบการกักกันแบบ Home Quarantine 2. การเข้าตรวจสถานที่ ร้านค้า สถานประกอบการที่ได้รับการผ่อนคลายการบังคับใช้ในบางมาตรการ ว่าสามารถปฏิบัติได้ถูกต้องตามสุขลักษณะ ตลอดจนคำสั่งคณะกรรมการโรคติดต่อ หรือศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019โควิด -19) หรือไม่ 3.การเข้าไปตรวจสอบและจับกุมการมั่วสุมรวมตัวกันที่อาจก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโรคทั้งในช่วงกลางวัน และช่วงเวลาเคอร์ฟิว อาทิ โรงแรม หอพัก ฯลฯ และ4.การร่วมปฏิบัติหน้ที่ ณ จุดตรวจเคอร์ฟิว ในเวลา 22.00 น.-04.00 น.
2.เข้มงวดการหลบหนีเข้าประเทศ โดยสั่งการให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน และตำรวจภูธรจังหวัดทุกจังหวัดที่มีพรมแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน เพิ่มความเข้มขั้นของมาตรการตรวจสอบผู้ลักลอบเดินทางเข้าประเทศผ่านทางช่องทางธรรมชาติ เพื่อลดจำนวนผู้เดินทางที่ไม่ผ่านการคัดกรอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานต่างด้าว รวมถึงการให้การสนับสนุนมาตรการ State Quarantine และ Local Quarantine ของรัฐบาลในทุกจังหวัด
3. บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง จากสถานการณ์ปัจจุบันซึ่งทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ส่งผลต่อแนวโน้มของการเกิดอาชญากรรม จึงได้กำชับไปยังทุกหน่วยให้เข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาชญากรรมที่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน เช่น ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ ลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปลันทรัพย์ ฉ้อโกง การกู้ยืมเงินในอัตราดอกเบี้ยที่เกินกว่ากฎหมายกำหนด การทวงหนี้โดยผิดกฎหมาย บ่อนการพนันและยาเสพติด รวมไปถึงอาชญากรรมที่เป็น การซ้ำเติมประชาชนที่กำลังเดือดร้อนในปีจจุบัน เช่น ความผิดเกี่ยวกับการจำหน่ายหน้ากากอนามัยและเวชภัณฑ์เกินราคา การเผยแพร่หรือส่งต่อข่าวปลอมในลักษณะ Fake Neพs การฝ่าฝืนประกาศข้อกำหนดของคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อๆ หรือการฝ่าฝืนข้อกำหนดห้ามออกนอกเคหสถานในห้วงเวลาที่กำหนด หรือเคอร์ฟิว
โฆษก ตร. กล่าวอีกว่า โดยในส่วนของกรุงเทพฯ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข รองผบ.ตร. กำหนดให้แต่ละกองบังคับการ โดยให้ รอง ผบก.น.1-9 หนึ่งท่านรับผิดชอบโดยตรง จัดทำแผนการปฏิบัติงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ ส่วนกองบัญชาการตำรวจภูธร 1 -9 ก็เช่นเดียวกัน รอง ผบก.ภ.จว.แต่ละจังหวัดจะมีผู้รับผิดชอบโดยตรงหนึ่งท่านจำทำแผนการออกตรวจร่วม ซึ่งจุดประสงค์ไม่ต้องการจะจับกุมเพียงแค่ป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส
“ขอฝากมายังพี่น้องประชาชนทุกท่านได้โปรดเข้าใจและให้ ความร่วมมือ ในการปฏิบัติตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการณ์ในสถานการณ์ฉุกเฉินๆ เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้ประเทศไทยสามารถรับมือกับการแพร่ระบาดของเชื้อโรคได้ เจ้าหน้าที่ตำรวจและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะยังคงคุมเข้ม และเข้มงวดมาตรการต่างๆ ทั้งในด้านสาธารณสุข การเดินทาง และอาชญากรรม พบว่าตั้งแต่มีการประกาศเคอร์ฟิวพบว่าอาชญากรรมลดลง ส่วนผู้ที่ฝ่าฝืนก็ลดลงเรื่อยๆเช่นเดียวกัน คืนที่ผ่านมาพบผู้ฝ่าฝืน 500 กว่าคน 80 เปอร์เซ้นต์เป็นกรจับนอกด่าน ของสายตรวจที่ออกตรวจพื้นที่ต่างๆ อย่างเช่นมั่วสุมนั่งหน้าหมู่บ้าน เมาสุรา“ พล.ต.ท.ปิยะ กล่าว