วันที่ 22 เม.ย.63 : นายวัชระ เพชรทอง อดีตส.ส.ประชาธิปัตย์ ยื่นหนังสือถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กรณีสาเหตุค่ากระแสไฟฟ้ามีราคาแพงขึ้น เนื่องจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ.ระบุชัดว่าค่าใช้จ่ายเงินลงทุน 7,250 ล้านบาทสำหรับสายส่งไฟฟ้าของบริษัทเอกชน กกพ.จะคำนวณค่าใช้จ่ายการลงทุนดังกล่าวส่งผ่านอัตราค่าไฟฟ้าแล้วเก็บจากประชาชนทั้งประเทศ จึงขอให้แก้ไขสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเอกชนให้เป็นธรรม และขอให้ลดราคาค่ากระแสไฟฟ้าในช่วงโรคระบาดโควิด-19โดยด่วน
ทั้งนี้ เนื่องจากว่าประชาชนได้ร้องเรียนเรื่องค่าไฟฟ้าแพงมากๆในขณะนี้ ทั้งๆที่ประชาชน “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ตามนโยบายของรัฐบาลในการป้องกันโรคระบาดโควิด-19 แต่รัฐบาลช่วยเพียงจะลดค่าไฟฟ้าให้ 3% นั้น ถือว่าไม่เป็นธรรมกับประชาชนอย่างยิ่ง เพราะปรากฏข้อเท็จจริงว่าค่าไฟฟ้าที่แพง เพราะนายดิเรก ลาวัณห์ศิริ ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงานขณะนั้น มีหนังสือลงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2556 ถึงนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สรุปว่า
กำลังการผลิตไฟฟ้า 5,000 เมกะวัตต์ ที่จะเชื่อมต่อสายส่ง 500 เควีกับสถานีไฟฟ้าแรงสูงปลวกแดงในช่วงปี 2564 – 2568 จะมีปริมาณเกินกว่าศักยภาพของระบบส่งไฟฟ้าที่ระบุไว้ใน RFP ทำให้ต้องมีการพัฒนาปรับปรุงและขยายระบบส่งไฟฟ้าในแนวเขตระบบโครงข่ายไฟฟ้าใหม่ระยะทางประมาณ 90 กิโลเมตร ในส่วนของการก่อสร้างขยายระบบส่งไฟฟ้า (Transmission System Upgrade. TSU) ซึ่งจะทำให้มีค่าใช้จ่ายในการลงทุนเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 7,250 ล้านบาทและนายพงษ์ศักดิ์ ได้ลงนามเห็นชอบเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2556
ในครั้งนั้น นายวัชระได้ส่งหนังสือคัดค้านลงวันที่ 4 มิถุนายน 2561 ถึงนายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. เพื่อคัดค้านกรณีนำเงินภาษีอากรของประชาชน 7,250 ล้านบาท ไปลงทุนทำระบบสายส่งไฟฟ้าให้เอกชน ซึ่งจะทำให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้น ต่อมาวันที่ 5 มิถุนายน 2561 (หลังจากนายพงษ์ศักดิ์ เห็นชอบมติ กกพ.นี้ที่อนุมัติไว้เมื่อ5ปีก่อน) คณะรัฐมนตรียุคพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช.มีมติให้ กฟผ.ลงทุนโครงการระบบส่งไฟฟ้า วงเงิน 7,250 ล้านบาท ซึ่งวงเงินดังกล่าว กกพ.มีมติให้คำนวณค่าใช้จ่ายการลงทุนดังกล่าวส่งผ่านอัตราค่าไฟฟ้า จึงเป็นการนำต้นทุน 7,250 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยคิดมาในอัตราค่าไฟฟ้าเก็บในบิลค่าไฟฟ้าประชาชนทั่วประเทศ จึงไม่เป็นธรรมกับประชาชนอย่างยิ่ง รวมทั้งสัญญาการซื้อไฟฟ้ากับเอกชนทุกแห่งนั้น จะต้องนำมาพิจารณาด้วยว่าเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่
นายวัชระฯ กล่าวว่า รัฐเสียเปรียบ ประชาชนเสียเงินเพราะต้องรับซื้อไฟฟ้าจากบริษัทเอกชน 100% ทุกวัน แม้ว่าการไฟฟ้าฯจะใช้ไฟฟ้าไม่ครบเต็มจำนวนตามสัญญาก็ตาม การไฟฟ้าจึงต้องนำค่าใช้จ่ายทั้งหมดดังกล่าวมาเฉลี่ยเก็บจากบ้านประชาชนทุกหลังทั่วประเทศตามคำสั่งของกกพ. จึงย่อมไม่เป็นธรรมกับประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศ ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในวันนี้ ทั้งๆที่น้ำมันและก๊าซที่ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้ามีราคาลดลงอย่างมากในปัจจุบัน
อีกทั้งในบิลไฟฟ้าทั้งของ กฟน.และกฟภ.จะเรียกเก็บค่าบริการบ้านละ 38.22 บาท โดยประชาชนไม่ได้รับการบริการอันใดเลย ขัดต่อหลักธรรมาภิบาล และการจัดตั้งองค์กรรัฐวิสาหกิจซึ่งใช้เงินภาษีอากรของประชาชนและมีหน้าที่ต้องให้บริการประชาชนอยู่แล้ว จะมาเรียกเก็บค่าบริการซ้ำซ้อนกับค่ากระแสไฟฟ้าไม่ได้
ดังนั้น นายวัชระฯ จึงมีข้อเสนอแนะว่า
1.เนื่องจากปัจจุบันมีการผลิตกระแสไฟฟ้าจากเอกชนเกินความต้องการของประเทศกว่า 30% จึงขอให้มีการแก้ไขสัญญาซื้อไฟจากโรงไฟฟ้าเอกชน ถ้าการไฟฟ้าใช้เท่าใดให้จ่ายเท่านั้น โดยให้การไฟฟ้าฯส่งสัญญาซื้อขายไฟฟ้าทุกฉบับให้คณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงานอัยการสูงสุดได้ตรวจสอบว่าสัญญาแต่ละฉบับเป็นธรรมกับรัฐและประชาชนหรือไม่ หากไม่เป็นธรรมต้องแก้ไขโดยด่วนที่สุด
2.ยกเลิกค่าบริการ 38.22 บาท ที่เก็บใบบิลค่าไฟฟ้าทั้ง กฟภ.และกฟน. ทุกหลังทั่วประเทศทันที
3. ลดค่ากระแสไฟฟ้า 30% -50% ในช่วงโรคโควิด-19 ระบาดด้วย
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน