หน้าแรกเศรษฐกิจ-การเงินกรุงศรีคาดเงินบาทซื้อขายในกรอบ 32.25-32.65 จับตาปมขัดแย้งสหรัฐ-จีน อาจนำไปสู่สงครามการค้ารอบใหม่

กรุงศรีคาดเงินบาทซื้อขายในกรอบ 32.25-32.65 จับตาปมขัดแย้งสหรัฐ-จีน อาจนำไปสู่สงครามการค้ารอบใหม่

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาท ในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 32.25-32.65 ต่อดอลลาร์เทียบกับระดับปิดแข็งค่าที่ 32.34 ต่อดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นและพันธบัตรไทยมูลค่า 3.1 พันล้านบาท และ 7.9 พันล้านบาท ตามลำดับ ส่วนในเดือนเมษายน เงินบาทแข็งค่า 1.6% และยอดขายสุทธิของนักลงทุนต่างประเทศในตลาดหุ้นและพันธบัตรไทยลดลงจากเดือนมีนาคม มาอยู่ที่ 4.69 หมื่นล้านบาท และ 1.89 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลช่วงอายุ 3-5 ปี ปรับตัวลดลงราว 17 bps 

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่า ตลาดการเงินจะให้ความสนใจกับการเปิดเผยข้อมูลภาคแรงงานของสหรัฐฯ รวมถึงการประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ประกาศคงกรอบเป้าหมายดอกเบี้ยไว้ที่ 0-0.25% และสัญญาว่าจะใช้ “เครื่องมือทั้งหมด” ในการพยุงเศรษฐกิจท่ามกลางความเสี่ยงที่อยู่ในระดับสูงจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19  โดยประธานเฟด กล่าวว่า เศรษฐกิจอาจเผชิญแรงกดดันจากความกังวลของผู้บริโภคและมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมเป็นเวลาหนึ่งปีเป็นอย่างน้อย นอกจากนี้ บรรยากาศการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงจะให้น้ำหนักระหว่างแนวโน้มความขัดแย้งทางการค้ารอบใหม่ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน และปัจจัยบวกจากการผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ในหลายประเทศ ทั้งนี้ รมว.ต่างประเทศของสหรัฐฯ อ้างถึงหลักฐานที่อาจแสดงให้เห็นว่าเชื้อ COVID-19 หลุดออกมาจากห้องแล็บในจีน โดยนักลงทุนกังวลมากขึ้นว่าประธานาธิบดีทรัมป์อาจใช้มาตรการกีดกันทางการค้าเพิ่มเติมเพื่อรักษาคะแนนความนิยมก่อนการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน สำหรับปัจจัยภายในประเทศ บัญชีเดินสะพัดเดือนมีนาคม ไทยมียอดเกินดุล  700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากยอดเกินดุล 5.4 พันล้านดอลลาร์ในเดือนกุมภาพันธ์ ขณะที่ดัชนีบริโภคภาคเอกชน ลดลง 0.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนดัชนีการลงทุนภาคเอกชน ดิ่งลง 7.8% ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะหดตัวในไตรมาส 1 และน่าจะเห็นการหดตัวมากขึ้นในไตรมาส 2 ส่วนระยะถัดไปต้องติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาด ทิศทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติและเศรษฐกิจโลกรวมถึงผลของมาตรการการเงินการคลัง อนึ่ง เราคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงสู่ระดับ 0.50% ในเดือนนี้ ควบคู่ไปกับมาตรการเยียวยาเฉพาะจุดมากขึ้น

RELATED ARTICLES
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img