เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2563 ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.)
พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รอโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยผลการตั้งด่านเคอร์ฟิวส์ทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย.ที่ผ่านมา ปัจจุบันมีการตั้งด่านตรวจ 998 จุดทั่วประเทศ ซึ่งผลการจับกุมผู้ฝ่าฝืนในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ก็มีการจับกุมดำเนินคดีไปมากกว่า 7,000 ราย แต่ยืนยันว่ามีแนวโน้มการจับกุมลดลงทุกวัน เนื่องจากมีการสร้างการรับรู้ให้ประชาชนมาโดยตลอด ส่วนการดำเนินคดีผู้ฝ่าฝืน พรก.ฉุกเฉิน เมื่อคืนนี้ (16 เม.ย.) มีการดำเนินคดี 929 คน แบ่งเป็นผู้ออกนอกเคหสถาน 820 คน มีการตักเตือนไป 172 คน ส่วนที่เหลือ 642 คน ถูกดำเนินคดี อีกกลุ่มหนึ่งเป็นประชาชนมั่วสุมในเคหสถาน ซึ่งมีการดำเนินคดีไป 109 คน ซึ่งตัวเลขนนี้สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนยังไม่เข้าใจเจตนารมย์ในการประกาศใช้ พรก.ฉุกเฉินฯ เพื่อไม่ให้มีการแพร่ระบาดของโรค ที่ต้องการให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการเดินทาง ไปทำกิจกรรม พบปะสังสรรค์ ให้เน้นการอยู่ในที่พักอาศัย นอกจากนี้ นับตั้งแต่เมื่อวันที่ 20 มีนาคมที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ยังพบมีสถานประกอบการฝ่าฝืนคำสั่งถูกดำเนินคดี ตั้งแต่ 20 มี.ค.-16 เม.ย.รวม 62 ราย ร่วม 300 คน ในจังหวัดที่มีแหล่งท่องเที่ยว เช่น กรุงเทพและปริมณฑล , เชียงใหม่ , ภูเก็ต , เกาะสมุย อย่างล่าสุดเช่นมีการดำเนินคดีกับนักท่องเที่ยวและเจ้าของกิจการที่ทำกิจกรรมมั่วสุมในโรงแรมที่จังหวัดเชียงราย และที่เกาะสมุย ,จับกุมความผิดเกี่ยวกับการจำหน่ายหน้ากากอนามัย ตั้งแต่ 4 มี.ค.- 16 เม.ย.มีการจับกุมแล้ว 398 คดี ,จับกุมผู้ปล่อยข่าวปลอม (เฟคนิวส์)บิดเบือนข่าว สร้างความสับสนพบว่า ตั้งแต่ 1 มี.ค.เป็นต้นมา รวม 33 คดี มีผู้ต้องหา 39 ราย
รองโฆษก ตร.กล่าวว่า กรณีที่ต้องมีการเดินทางออกนอกเคหะสถานในช่วงที่มีการประกาศเคอฟิวส์ ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้จัดทำแบบฟอร์มกลาง เพื่อเป็นแนวทางในการออกหนังสือรับรองให้กับผู้ที่มีความจำเป็นต้องเดินทาง ตามที่ได้รับการยกเว้นในประกาศ พรก.ฉุกเฉิน อาทิ แพทย์ , พยาบาล , สื่อมวลชน , พนักงานที่เข้ากะกลางคืน ซึ่งหากต้องผ่านด่านตรวจก็ต้องมีเอกสารรับรอง รวมถึงบัตรประจำตัวประชาชน เพื่อยืนยันตัวบุคคล และหากเป็นกรณีที่มีเหตุผลความจำเป็น ก็จะพิจารณาอนุญาตเป็นรายกรณีไป