ตลอดระยะเวลา 75 ปีแห่งความภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ร่วมเคียงข้างการเติบโตของธุรกิจไทย และให้บริการคนไทยหลายล้านคน ในวันนี้ชื่อ “ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)” ยังคงความเป็นสถาบันการเงินที่มั่นคง แข็งแกร่ง และเป็นที่เชื่อถือของคนไทยอยู่เสมอ จึงไม่น่าแปลกใจที่รางวัล “ธนาคารแห่งปี 2563” (Bank of the Year 2020) ซึ่งสำรวจและประกาศผลโดย “วารสารการเงินธนาคาร” จะตกเป็นของธนาคารแห่งนี้อีกครั้ง นับเป็นครั้งที่ 14 และโดยเฉพาะรอบ 12 ปีล่าสุด ธนาคารครองรางวัลนี้มากถึง 10 ปี
“รางวัลนี้ช่วยยืนยันถึงการดำเนินธุรกิจที่มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่องของธนาคารกรุงเทพ” ชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าว “ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่คณะกรรมการบริหาร และผู้บริหารที่มากประสบการณ์ร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายการดำเนินกิจการเติบโตอย่างมั่นคง ตลอดจนความร่วมมือร่วมใจจากพนักงานที่เต็มเปี่ยมด้วยคุณภาพ เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์ผลประโยชน์ให้ลูกค้า อันเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธนาคารสามารถเติบโตได้อย่างมั่นคง แข็งแกร่งในระยะยาว”
เบื้องหลังความสำเร็จของ “ธนาคารแห่งปี 2563” เกิดขึ้นจากหลากหลายปัจจัยสั่งสมต่อเนื่องมาประกอบร่วมกัน โดยสามารถสรุปได้ดังนี้
– การเติบโตอย่างมีเสถียรภาพและมั่นคง หนึ่งในปัจจัยสำคัญการพิจารณารางวัลนี้ มาจากผลประกอบการในปี 2562 ซึ่งธนาคารกรุงเทพ สามารถสร้างกำไรสุทธิมากเป็นอันดับ 3 ของระบบธนาคารพาณิชย์ มีกำไรสุทธิ 35,816.09 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.4% โดยเติบโตจากค่าธรรมเนียมการให้บริการทางการเงินเป็นสำคัญ ซึ่งสะท้อนความสามารถการทำธุรกิจได้อย่างชัดเจน
อาจไม่ใช่รูปแบบการก้าวกระโดด แต่เติบโตอย่างมั่นคง และมีเสถียรภาพ นั่นจึงส่งผลให้ กำไรต่อหุ้นสูงเป็นอันดับ 1 ที่ 18.76 บาท และมูลค่าทางบัญชีต่อหุ้น (Book Value) 225.36 บาท สูงเป็นอันดับ 1 เช่นกัน
– บริหารด้วยความระมัดระวัง ถือเป็นนโยบายหลักของธนาคารกรุงเทพเสมอมา จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะเห็นการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อสูงเป็นอันดับ 1 และการรักษาระดับเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงให้อยู่ในเกณฑ์ที่แข็งแกร่งอยู่เสมอ โดยอัตราส่วนเงินกองทุน (BIS) ขั้นที่ 1 มีถึง 17.01% มากเป็นอันดับ 3
– การยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง ถูกนำมาผสมผสานเข้ากับทิศทางการเติบโตใหม่ๆ ซึ่งก่อให้เกิดนวัตกรรมทางการเงินอยู่เสมอ ตั้งแต่การเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับกลุ่ม R3 เพื่อนำเทคโนโลยี Blockchain มาต่อยอดธุรกิจ Trade Finance ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจให้ลูกค้าอย่างมหาศาล การพัฒนารูปแบบการชำระเงินอย่างหลากหลาย พร้อมรองรับทุกความต้องการของลูกค้าอย่างครอบคลุม ผ่าน Digital Payment Solution
ที่สำคัญแนวคิดนี้ยังสะท้อนผ่านความเป็น “เพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน” ด้วยบริการทางการเงินที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้อย่างลงตัว ย้ำถึงความต้องการของลูกค้าเป็นสำคัญ โดยมีธนาคารเป็นเสมือนเพื่อนที่พร้อมจะเข้าใจและอยู่เคียงข้างในทุกช่วงชีวิต
– ยุทธศาสตร์เติบโตที่ชัดเจนและต่อเนื่อง กรณีที่เห็นได้ชัดเจนคือ การขยายเครือข่ายธุรกิจในต่างประเทศที่มุ่งมั่นสู่การเป็น “ธนาคารพาณิชย์ชั้นนำระดับภูมิภาค” ด้วยจุดแข็งด้านเครือข่ายสาขาต่างประเทศมากถึง 31 แห่ง ครอบคลุม 14 เขตเศรษฐกิจสำคัญของโลก โดยในปี 2562 ธนาคารก็ได้ประกาศดีลใหญ่เขย่าวงการ ด้วยการตัดสินใจเข้าซื้อกิจการ “ธนาคารเพอร์มาตา” ธนาคารพาณิชย์ที่มีสินทรัพย์ใหญ่เป็นอันดับ 12 ของอินโดนีเซีย มีสาขากว่า 300 แห่ง ใน 62 เมืองทั่วประเทศ
นอกจากมิติด้านกลยุทธ์การบริหารธุรกิจการเงินธนาคารอย่างเข้าใจธรรมชาติของธุรกิจและลูกค้าที่ทำได้อย่างสม่ำเสมอตลอดมาแล้ว ในปี 2563 ยังคงมีปัจจัยความท้าทายอีกหลายด้านรออยู่ ทั้งปัจจัยเฉพาะตัว อย่างการทำรายการเข้าซื้อกิจการธนาคารเพอร์มาตา และใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าจากดีลนี้ ไปจนถึงภาพกว้างที่กระทบทั้งอุตสาหกรรมการเงิน โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคยุคดิจิทัล และที่สำคัญสำหรับช่วงเวลานี้คือ ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งกระทบต่อเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างรุนแรง
มองด้านหนึ่งคือความท้าทายที่รออยู่ แต่ถ้ามองอีกด้านด้วยมุมมองของธนาคารที่ผ่านประสบการณ์มาเกือบ 75 ปี นี่อาจจะเป็นโอกาสของการเรียนรู้ ทำความเข้าใจ ปรับตัว และช่วยเหลือกัน ระหว่าง “ธนาคาร” และ “ลูกค้า” ที่เราต่างก็เป็น “เพื่อนคู่คิด” ของกันและกัน