นายไชยา พรหมา ประธานคณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ กล่าวถึง การร้องเรียนต่อคณะกรรมาธิการฯ กรณีงบภัยแล้งในปีที่ผ่านมา ว่ามีการแบ่งย่อยโครงการออกเป็นโครงการย่อย ๆ โครงการละไม่เกิน 5 แสนบาท เพื่อหลีกเลี่ยงการ E-auction ซึ่งอาจเป็นช่องทางทำให้เกิดการทุจริตได้ง่าย อีกทั้งมีการเรียกผู้รับเหมามาตกลงราคาเป็นการชี้เฉพาะเจาะจงเป็นราย ๆ มีการเรียกรับผลประโยชน์มหาศาล เนื่องจากระยะเวลาเร่งด่วน อีกทั้งขณะนี้ เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ไม่มีการจ้างงาน ผู้รับเหมาจึงดิ้นรนเพื่อให้ได้รับงานจากทางราชการ จึงอยากให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทย ได้เข้มงวดการใช้จ่ายงบประมาณภัยแล้งในปี 63 นี้ ให้เกิดประสิทธิภาพและประโยชน์สูงสุดในการแก้ไขปัญหา และอยากให้ถอดบทเรียนในปีที่ผ่านมาเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดช่องทางการทุจริตเกิดขึ้นอีก
ทั้งนี้ ได้จับตามองโครงการสูบน้ำด้วยพลังแสงอาทิตย์ ที่มีการวิ่งเต้นเสนอโครงการเป็น Package ให้กับหน่วยงานในจังหวัดต่าง ๆ เพื่อเสนอขอรับงบประมาณในการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง แต่ในปีที่ผ่านมาทราบว่า หลังการตรวจรับงานแล้ว ไม่สามารถใช้งานได้เนื่องจากสินค้าไม่มีคุณภาพ กลายเป็นอนุสาวรีย์ในหลายจังหวัด ทำให้รัฐสูญเสียงบประมาณเป็นอย่างมาก ดังนั้นทางคณะกรรมาธิการฯ ให้ความสนใจเรื่องดังกล่าวนี้ และจะดำเนินการตรวจสอบต่อไป