หน้าแรกการเมือง'ธีระชัย' เย้ย ถ้าอยากหาเงินทอนตั้งพรรค จากสัมปทานเอราวัณ-บงกช ควรทำอย่างไร

‘ธีระชัย’ เย้ย ถ้าอยากหาเงินทอนตั้งพรรค จากสัมปทานเอราวัณ-บงกช ควรทำอย่างไร

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เปิดเผยผ่านเฟสบุ๊คส่วนตัว ‘Thirachai Phuvanatnaranubala‘ ภายใต้ชื่อเรื่องว่า “ผมจะหาเงินทอนตั้งพรรคอย่างไร จากเอราวัณ/บงกช?” โดยกล่าวว่า สมมุติว่าผมเป็นคนที่เรียนจบสูง แต่มีความโลภเป็นที่ตั้ง ผมจะรับจ๊อบหาเงินทอนเพื่อตั้งพรรคการเมือง โดยดำเนินการทีละก้าวดังนี้ ก้าวที่หนึ่ง ออกกฎหมายปิดกั้นบรรษัทพลังงานแห่งชาติ ถ้าปล่อยให้มีการจัดตั้งบรรษัท แผนของผมจะกระจุย เพราะบรรษัทจะเป็นผู้ได้สิทธิในการซื้อ และในการขายก๊าซ แต่ผู้เดียว และเมื่อเอกสิทธิทั้งในการเหมาซื้อ และในการผูกขาดการขาย ตกเป็นของบรรษัท ก็จะไม่มีเงินทอนให้ผม ดังนั้น ผมจึงจะต้องเดินเกม ไม่ให้มีการจัดตั้งบรรษัท โดยการให้รัฐสภา ลบบรรษัทออกไปจากกฎหมาย

นายธีระชัย กล่าวต่อไปว่า เพราะเหตุใด? ผมจะต้องทำให้บริษัทที่สปอนเซอร์ผมเป็นรัฐมนตรี เป็นผู้ที่ได้สิทธิผูกขาดซื้อก๊าซ และผูกขาดขายก๊าซ แทนบรรษัท เพื่อจะทำให้มีกำไรแต่ละปีบานเบิกเหมือนเดิม จะได้มีเงินทอนมาให้ผมและพวก (บังเอิญเหลือเกิน ก็มีการตัดมาตราเกี่ยวกับบรรษัทออกไปจาก พรบ.ปิโตรเลียมฉบับที่ 7 จึงทำให้กฎหมายนี้ปิดกั้นบรรษัทโดยสิ้นเชิง) ก้าวที่สอง ออกประกาศปิดกั้นรูปแบบจ้างผลิตบริการ เนื่องจากเอราวัณ/บงกชมีหลายหลุมที่ผลิตก๊าซในระดับเดิมต่อไปได้อีกอย่างน้อย 1-2 ปี ดังนั้น รัฐบาลไทยสามารถแยกหลุมเหล่านี้ออกต่างหาก และแบ่งเป็นแปลงเล็กย่อยๆ ซึ่งจะทำให้เอกชนเข้ามาร่วมประมูลจำนวนมาก แต่ผมจะยอมไม่ได้ เพราะถ้าหากรัฐบาลไทยใช้รูปแบบจ้างผลิตบริการ เอกชนจะได้กำไรน้อย เอกชนจะได้แค่ค่าจ้าง จะไม่ได้ส่วนแบ่งผลผลิต และผมจะไม่สามารถเรียกเงินทอนได้ ดังนั้น ผมจะต้องเดินเกม ไม่ให้มีการใช้รูปแบบจ้างผลิตบริการเกิดขึ้นได้ โดยกำหนดเงื่อนไขปิดกั้น (บังเอิญเหลือเกิน ก็มีการออกประกาศคณะกรรมการปิโตรเลียม ที่ปิดกั้นรูปแบบจ้างผลิตบริการ … โดยกำหนดว่า แปลงใดที่จะใช้รูปแบบนี้ได้ (ก) จะต้องมีปริมาณน้ำมันมากกว่าที่มีอยู่ในประเทศไทยทั้งหมด และ (ข) จะต้องมีปริมาณก๊าซเกินกว่าที่มีอยู่ในแปลงใดแปลงหนึ่งในประเทศไทย … จึงทำให้ปิดกั้น ไม่สามารถแบ่งพื้นที่ออกเป็นแปลงเล็กย่อยๆ เพื่อใช้รูปแบบจ้างผลิตบริการโดยสิ้นเชิง) ก้าวที่สาม ตั้งเงื่อนไขกีดกันรายใหม่ ผมจะเรียกเงินทอนได้สะดวกที่สุดจากเอกชนรายเดิม หรือรายที่ทำธุรกิจพลังงานในไทยอยู่แล้ว เพราะมีความคุ้นเคยกันมานับสิบๆปี ผมจึงจะไม่ยอมปล่อยให้มีเอกชนรายใหม่เข้ามาแข่งขันประมูลได้ง่ายๆ

นายธีระชัย กล่าวด้วยว่า วิธีการที่แนบเนียนคือ ผมจะอ้างความมั่นคงพลังงาน และตั้งเกณฑ์ผลิตขั้นต่ำเอาไว้สูงลิบ เช่น 70% ของปัจจุบัน ทั้งที่ผมรู้ดีว่าขณะนี้ก๊าซล้นตลาดโลก สามารถนำเข้าทดแทนได้ สามารถบริหารจัดการปัญหาความมั่นคงพลังงานได้ ก่อนหน้านี้ในปี 2550/1 กลุ่มของผมเคยแกล้งทำโง่ ต่ออายุสัมปทานโดยไม่สนใจเจรจาเพิ่มเงื่อนไข ให้รายใหม่เข้าพื้นที่ก่อนวันหมดสัมปทานได้ (ใช่หรือไม่?) เนื่องจากรายใหม่เข้าพื้นที่ได้หลังวันหมดสัมปทาน และการสำรวจเครื่องมือและเตรียมการผลิตนั้น ในปีแรกย่อมจะขลุกขลักเป็นธรรมดา เมื่อตั้งขั้นต่ำไว้ให้สูงตั้งแต่ปีแรก รายใหม่ที่กล้าผยองเข้ามาแข่งขันจะน้อยลง ที่จริง ถ้าจะให้แน่ใจ ผมจะตั้งเกณฑ์ขั้นต่ำให้สูงมากขึ้น เช่น 95% ของปัจจุบัน เพราะความมั่นคงพลังงานเป็นคาถาที่ติดตลาดอยู่แล้ว ซึ่งจะปิดกั้นรายใหม่อย่างเต็มที่ แต่ผมกลัวว่ามันจะดูไม่แนบเนียน!! (บังเอิญเหลือเกิน ก็มีข้าราชการที่เสนอเกณฑ์ขั้นต่ำไว้ที่ 400 ล้านลบ.ฟุต/วันในช่วงแรก ข่าวระบุว่า มีนโยบายจะเปลี่ยนเป็น 1,500) ก้าวที่สี่ ตั้งเงื่อนไขเพื่อไม่ต้องแยกท่อก๊าซ แหล่งเอราวัณปัจจุบันประกอบด้วย 4 แปลง แหล่งบงกช 3 แปลง ถ้าเอาออกประมูลทีละแปลง ถึงแม้ผมจะพยายามกั้นรายใหม่ แต่ก็มีความเสี่ยง ที่จะมีรายใหม่ทุ่มประมูลเฉพาะแปลงใดแปลงหนึ่ง ในอนาคต ถ้าเมื่อใดแต่ละแหล่งมีผู้ผลิตมากกว่า 1 ราย จะเกิดปัญหาเกี่ยวกับการใช้ท่อก๊าซ เพราะท่อเป็นของส่วนรวมสำหรับแหล่งนั้น

นายธีระชัย กล่าวย้ำว่า ในเรื่องนี้ แผนแม่บทแปรรูปรัฐวิสาหกิจสมัยรัฐบาลชวน จึงกำหนดให้แยกระบบท่อก๊าซออกต่างหากก่อนแปรรูป เพื่อให้ผู้ผลิตทุกรายสามารถเป็นคู่สัญญากับรัฐบาลไทย และทุกรายใช้ท่อก๊าซได้เท่าเทียมกัน แต่เนื่องจากบริษัทสปอนเซอร์ของผมไม่ยอมโอนท่อก๊าซ ผมจึงต้องพลิกแพลง ใช้วิธีรวบแต่ละแหล่งให้เป็นแปลงเดียว ให้มีผู้ผลิตรายเดียว ซึ่งจะทำให้ปัญหาเรื่องท่อก๊าซเลือนหายไปจากใจคนไทย เหมือนคลื่นซัดฝั่ง (บังเอิญเหลือเกิน ก็มีข่าวว่า มีนโยบายจะขยายพื้นที่สำหรับแต่ละแหล่ง โดยจะรวบเข้าเป็นสัญญาเดียว) ก้าวที่ห้า ทำสัญญาให้สิทธิซื้อขายก๊าซไปตกที่บริษัทสปอนเซอร์ ปกติการให้เอกชนแข่งขันประมูลสัดส่วนแบ่งปันผลผลิตให้รัฐนั้น จะต้องกำหนดสูตรที่รัฐจะรับซื้อก๊าซส่วนที่เป็นของเอกชน ประกาศล่วงหน้าก่อนการประมูล ส่วนถ้าเอกชนไม่ขายก๊าซให้รัฐ ก็ควรบังคับให้เอกชนขายทั่วไปโดยวิธีประมูลภายในประเทศ เพื่อเป็นธรรมแก่ผู้ใช้ก๊าซทุกราย และป้องกันการผูกขาด แต่ผมจะปล่อยให้รัฐบาลไทยทำอย่างนี้ได้ไง เพราะผมและพวกจะไม่ได้เงินทอน … ผมจึงจะต้องพลิกแพลง เพื่อให้บริษัทสปอนเซอร์ของผม เป็นผู้ได้สิทธิผูกขาดซื้อก๊าซจากเอกชน ตัวอย่างเช่น รัฐจะตั้งเพดานราคารับซื้อก๊าซเอาไว้ โดยกำหนดว่า ถ้าหากเอกชนผู้ผลิตเสนอขาย ราคาเกินกว่าเพดาน จะให้บริษัทสปอนเซอร์ของผมเป็นผู้รับซื้อแทน แนบเนียนมั้ยล่ะ เอกชนผู้ผลิตก็จะรับลูก เสนอขายสูงกว่าเพดานเสมอ — เนียนอีกแล้ว และผมก็จะพ่วงเอาก๊าซส่วนที่เป็นของรัฐไปด้วย โดยอ้างว่า เนื่องจากบริษัทสปอนเซอร์ของผม ยอมซื้อในราคาสูงกว่าเพดาน ดังนั้น ถือได้ว่าเป็นการเสียสละ(เพื่อให้ได้สิทธิผูกขาดอันมีค่า)

“รัฐควรจะสรรเสริญและยอมขายก๊าซส่วนที่เป็นของรัฐ ไปให้แก่บริษัทสปอนเซอร์ของผม วิธีนี้ บริษัทสปอนเซอร์ของผมก็จะกำไรแบบพุงปลิ้นอีกเช่นเดิม และผมก็จะได้เงินทอนสบายใจ นี่แหละครับ ถ้าผมเป็นคนชั่ว ถ้าผมไม่สนใจประเทศชาติและประชาชน ถ้าผมรับจ๊อบหาเงินตั้งพรรค ผมก็จะเดินห้าก้าวตามนี้ แต่มันจะเป็นก้าวไปสู่นรกนะครับ เพราะถึงแม้คนไทยส่วนใหญ่มีการศึกษาน้อยกว่าผม แต่เขาไม่โง่! วันหนึ่งคนไทยก็จะเข้าใจแผนชั่วร้ายของผม และเขาจะสาบแช่งให้ผมลงนรก ให้พินาศไปทั้งตระกูลเจ็ดชั่วโคตร ผมเขียนบทความนี้ด้วยความหวังดีนะครับ ไม่อยากเห็นใครหลง ขายวิญญาณให้แก่ปีศาจ เพื่อเศษขนมปังเล็กน้อย” นายธีระชัย กล่าว

 

 

 


 

RELATED ARTICLES

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img