เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2563 ที่สำนักงานศาลยุติธรรม นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และประกาศเคอร์ฟิว ในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร โดยห้ามบุคคลใดออกนอกเคหสถาน ระหว่างเวลา 22.00-4.00 น. ของวันรุ่งขึ้น นั้น

ส่วนควบคุมการใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับตรวจสอบหรือจำกัดการเดินทางของบุคคลผู้ได้รับการปล่อยชั่วคราวโดยศาล หรือที่เรียกว่า“ศูนย์EM” ขอเป็นหน่วยงานภาครัฐที่ร่วมมือในการสอดส่องดูแลความสงบเรียบร้อยให้เป็นไปตามมาตรการของรัฐบาล โดยการจัดเวรผู้ปฏิบัติงานในศูนย์ช่วงเวลากลางคืนทำการตรวจสอบผู้สวมใส่กำไลข้อเท้าอิเล็กทรอนิกส์ (EM) โดยวิธีจับระดับความเร็วในการเคลื่อนไหวเกิน 40 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งเชื่อว่าอยู่ในยานพาหนะ เพื่อลดการสัญจร สามารถตรวจสอบผู้ติดอุปกรณ์ EM ครอบคลุมทุกพื้นที่ในประเทศไทย

ผลการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ขณะนี้มีผู้ติดอุปกรณ์ EM ทั่วประเทศ 2,815 ราย ได้รับการรายงานว่ามีประมาณวันละ 20 – 40 รายที่พบการเคลื่อนไหวเกิน 40 กิโลเมตร/ชั่วโมง ในช่วงเวลา 22.00-04.00 น. ซึ่งได้กำชับเจ้าหน้าที่โทรศัพท์สอบถามทุกราย ทราบว่าส่วนใหญ่อยู่ระหว่างเดินทางกลับจากงาน หรือทำงานด้านขนส่งสินค้า แต่พบบางรายไปงานเลี้ยงสังสรรค์ หรือออกจากบ้านโดยไม่มีเหตุอันสมควร เช่น ไปกดเงินจากตู้เอทีเอ็ม ไปซื้อของ เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ได้ตักเตือนให้ทราบว่า ในเวลานี้เป็นช่วงคำสั่งห้ามออกนอกเคหสถาน โดยไม่ได้รับการยกเว้นและเหตุจำเป็นอื่น ๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่

นอกจากนี้ได้มีการรายงานพฤติการณ์จำเลยไปยังศาลเพื่อทราบและพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ส่วนกรณีที่ศาลมีคำสั่งห้ามผู้ติดอุปกรณ์ EM รายใดเป็นการเฉพาะ ออกนอกเคหสถานโดยจำกัดช่วงเวลาไว้แล้ว จะมีการแจ้งเตือนมายังศูนย์ EM ทันที โดยไม่ต้องใช้วิธีจับความเร็วในการเคลื่อนไหว โดยมาตรการดังกล่าวเป็นการส่งเสริมและให้ความร่วมมือตามแนวนโยบายรัฐบาล เพื่อป้องกัน สกัดกั้น และชะลอการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าศาลมีคำสั่งให้จำเลยติดอุปกรณ์ EM ในข้อหาฝ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 จำนวน 6 คดี