ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ด้วยสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง กทม.จึงได้ออกประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราวไปแล้ว 4 ฉบับ ปิดพื้นที่เสี่ยง จำนวน 34 แห่ง ซึ่งได้รวมถึงการกำหนดให้สถานประการและร้านอาหารต้องจำหน่ายแบบนำกลับไปทานที่อื่นหรือที่บ้าน(Take Away) ส่งผลให้ประชาชนหันมาใช้บริการธุรกิจขนส่งสั่งอาหารมารับประทานที่บ้านมาขึ้น เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้กับประชาชนและยกระดับมาตรฐานการดำเนินการของผู้ประกอบธุรกิจขนส่งอาหารกรุงเทพมหานคร โดยสำนักอนามัยจึงออกคำแนะนำสำหรับการให้บริการอาหารแบบเดลิเวอรี่ (Delivery)ในสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เพื่อให้ผู้ประกอบการดำเนินการ ดังนี้ 1.ผู้ประกอบการที่จัดบริการอาหารแบบเดลิเวอรี่ (Delivery) ให้ติดตามสถานการณ์และศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019(COVID-19) และให้ความรู้หรือประชาสัมพันธ์แก่ผู้ขนส่งอาหาร เช่น การสวมหน้ากากที่ถูกวิธี และขั้นตอนการล้างมือที่ถูกต้อง เป็นต้น ผ่านช่องทางต่างๆ ของบริษัท พร้อมจัดทำทะเบียนผู้ขนส่งอาหารที่เป็นพนักงานของบริษัททุกราย จัดให้มีกล่องบรรจุอาหารท้ายยานพาหนะสำหรับขนส่งอาหารให้แก่ผู้ส่งอาหาร ที่มีโครงสร้างแข็งแรง ปกปิดมิดชิด สามารถป้องกันการปนเปื้อน และใช้กล่องบุฉนวนเพื่อรักษาอุณหภูมิให้อยู่ในช่วงอุณหภูมิที่
เหมาะสม จัดบริการหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย และเจลแอลกอฮอล์สำหรับทำความสะอาดมือให้แก่ผู้
ขนส่งอาหาร จัดให้มีการตรวจคัดกรองสุขภาพเบื้องต้นให้แก่ผู้ขนส่งอาหารทุกราย ก่อนออกปฏิบัติงานทุกวัน กรณีมีผู้ขนส่งอาหารเป็นจำนวนมาก ให้จัดหาจุด check-in สำหรับตรวจคัดกรองให้ครอบคลุม หากพบผู้ขนส่งอาหารมีอาการป่วย เช่น มีไข้ ไอ จาม มีน้ำมูก หรือเหนื่อยหอบ ให้หยุดปฏิบัติงานและไปพบแพทย์ทันที และจัดทำคำแนะนำหรือแบบประเมินตนเอง (Self-check) ในการดูแลตนเองของผู้ขนส่งอาหาร เพื่อให้ผู้ขนส่งอาหารได้มีการตรวจสอบสุขภาพเบื้องต้น จัดให้มีภาชนะรองรับอาหารสำหรับวางอาหารให้ลูกค้าสำหรับผู้ส่งอาหารทุกราย เช่น กล่องหรือโต๊ะแบบพับได้ และจัดทำคำแนะนำให้ผู้ขนส่งอาหารให้มีวิธีการส่งอาหารแบบ Personal distancing โดยยืนห่างจากลูกค้าอย่างน้อย 1 เมตร และห้ามวางอาหารบนพื้น รวมทั้งเพิ่มช่องทางการชำระค่าบริการเป็นแบบ E-Payment
2.ร้านอาหารให้บริการอาหารในรูปแบบเดลิเวอรี่ (Delivery) ร้านอาหารต้องสะอาด ถูกสุขลักษณะ อาหารปรุงสำเร็จ ต้องปรุงสุกใหม่ สำหรับอาหารประเภทเนื้อสัตว์ปรุงให้สุกด้วยความร้อนไม่น้อยกว่า 70 องศาเซลเซียส หลีกเลี่ยงการจำหน่ายอาหารประเภทเนื้อสัตว์ที่ปรุงไม่สุก มีการใช้อุปกรณ์ในการหยิบจับอาหารที่ปรุงสำเร็จพร้อมบริโภค จัดให้มีที่ล้างมือพร้อมสบู่สำหรับล้างมือ หรือจัดให้มีเจลแอลกอฮอล์สำหรับทำความสะอาดมือ จัดสถานที่ให้เพียงพอกับจำนวนผู้ขนส่งอาหารที่เข้ามาใช้บริการโดยจัดระยะห่าง 1 เมตร และมีการระบายอากาศที่เหมาะสม จัดหาภาชนะบรรจุอาหารที่เหมาะสมกับอาหารแต่ละประเภท แข็งแรง ปกปิดมิดชิด เพื่อป้องกันการปนเปื้อนในระหว่างการขนส่ง ไม่ใช้โฟมในการบรรจุอาหาร และซ้อน ส้อม ตะเกียบ ต้องอยู่ในบรรจุภัณฑ์ที่ปกปิดมิดชิด อาหารปรุงสำเร็จ มีการติดฉลากที่ระบุรายละเอียดอย่างชัดเจน เช่น ชื่อร้านอาหาร วัน/เดือน/ปี เวลาที่ผลิต ระยะเวลา และอุณหภูมิที่เหมาะสมในการเก็บรักษาอาหาร เป็นตัน กรณีจัดส่งอาหารเสี่ยง เช่น อาหารที่ใช้มือสัมผัสมาก (ข้าวมันไก่ ข้าวหมูแดง ข้าวหมูกรอบ ฯลฯ) อาหาร ที่มีส่วนประกอบของ กะทิ นม ควรแนะนำให้ผู้บริโภคนำไปอุ่นร้อนก่อนรับประทาน หากพนักงานมีอาการเจ็บป่วย เช่น มีไข้ ไอ จาม มีน้ำมูก หรือเหนื่อยหอบ ให้หยุดปฏิบัติงานและไปพบแพทย์ทันที
3.ผู้ขนส่งอาหารเดลิเวอรี่ (Delivery) ต้องลงทะเบียนกับผู้ประกอบการที่จัดบริการอาหารแบบเดลิเวอรี่ (Delivery) สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยระหว่างปฏิบัติงาน ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ ก่อนเข้าร้านอาหาร ก่อนและหลังการส่งอาหารให้ผู้สั่งซื้ออาหาร รวมทั้งหลังเข้าห้องสุขา หลังจับสิ่งสกปรก และจับเงิน หากมีอาการป่วย เช่น มีไข้ ไอ จาม มีน้ำมูก หรือเหนื่อยหอบ ให้หยุดปฏิบัติงานและไปพบแพทย์ทันที ต้องใช้กล่องบรรจุอาหารท้ายยานพาหนะสำหรับขนส่งอาหาร ที่มีโครงสร้างแข็งแรง ปกปิดมิดชิดในลักษณะที่ช่วยป้องกันการปนเปื้อน และใช้กล่องบุฉนวนเพื่อรักษาอุณหภูมิให้อยู่ในช่วงอุณหภูมิที่เหมาะสมให้หมั่นดูแลรักษากล่องบรรจุอาหารท้ายยานพาหนะสำหรับขนส่งอาหารให้อยู่ในสภาพดี พร้อมใช้งาน และทำความสะอาดด้วยน้ำและน้ำยาทำความสะอาด และฆ่าเชื้อโรค ด้วย Alcohol 70 % โดยสเปรย์หรือหยด Alcohol 70 % ลงบนผ้าสะอาดพอหมาดๆ เช็ดไปในทิศทางเดียวกัน เป็นประจำทุกวัน ตรวจสอบคุณภาพอาหารทันทีหลังได้รับจากร้านอาหาร เช่น ความสะอาด สภาพอาหารและไม่มีกลิ่นเน่าเสีย บรรจุอยู่ในภาชนะที่มีสภาพดี ไม่ชำรุด การปกปิดอาหาร ฉลากอาหาร เป็นต้น การส่งอาหารต้องแยกเก็บอาหารเป็นสัดส่วน ระหว่างอาหารปรุงสำเร็จ และเครื่องดื่ม และจัดส่งถึงมือผู้บริโภคให้เร็วที่สุด ไม่ควรเปิดกล่องบรรจุอาหารท้ายยานพาหนะ จนกว่าจะพบผู้สั่งซื้ออาหาร โดยก่อนเปิดกล่องใส่อาหารทุกครั้งควรทำความสะอาดมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ จัดส่งอาหารให้ผู้สั่งซื้อโดยใช้ภาชนะรองรับอาหารสำหรับวางอาหารให้ลูกค้าหรือจุดที่ผู้สั่งซื้อกำหนดมีวิธีการส่งอาหารแบบ Personal distancing โดยยืนห่างจากลูกค้าอย่างน้อย 1 เมตร และห้ามวางอาหารบนพื้นเพื่อลดความเสี่ยงการได้รับเชื้อโรคระหว่างให้บริการผู้สั่งซื้อ หรือในกรณีที่ไม่ได้ส่งอาหารให้กับผู้สั่งอาหารได้โดยตรง สถานที่หรือบริเวณที่จะส่งอาหารต้องไม่ทำให้อาหารเกิดการปนเปื้อน เช่น ไม่ส่งอาหารบริเวณใกล้ถังขยะเป็นต้น และภายหลังส่งอาหารและหลังการจับเงินให้ทำความสะอาดมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ ถอดถุงมือผ้าในระหว่างการหยิบจับอาหาร เพราะอาจเกิดการปนปื้อนของฝุ่นละอองและเชื้อโรคที่สะสมในถุงมือผ้า กรณีใส่ถุงมือผ้าในระหว่างการใช้ยานพาหนะขนส่งให้ล้างมือด้วยน้ำและสบู่ก่อนการสวมใส่ทุกครั้ง และเปลี่ยนถุงมือทุก 4 ชั่วโมง ทำความสะอาดถุงมือด้วยน้ำยาทำความสะอาดทุกวัน
4. ผู้สั่งซื้ออาหาร/ผู้บริโภค ให้จัดเตรียมภาชนะรองรับอาหาร เช่น กล่องหรือโต๊ะแบบพับได้ และให้ยืนห่างจากผู้ขนส่งอาหารอย่างน้อย 1 เมตร ล้างมือด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้เจลแอลกอฮอล์สำหรับทำความสะอาดมือ หลังการรับอาหารจากคนขนส่งอาหาร ก่อนรับประทานอาหาร สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยหากมีอาการป่วย ในระหว่างการรับอาหารจากผู้ขนส่งอาหาร ควรสั่งอาหารจานร้อน ปรุงสุกเสร็จใหม่ หลีกเลี่ยงการสั่งซื้ออาหารกลุ่มเสี่ยง เช่น อาหารประเภทเนื้อสัตว์หรือเครื่องในสัตว์ที่ปรุงไม่สุก อาหารที่เน่าเสียง่าย อาหารที่ปรุงด้วยนม กะทิ เป็นต้น กรณีอาหารเสี่ยงเช่น อาหารที่ใช้มือสัมผัสมาก ข้าวมันไก่ ข้าวหมูแดง ข้าวหมูกรอบ ฯลฯ อาหารที่มีส่วนประกอบของ กะทิ นมควรนำไปอุ่นร้อนก่อนรับประทาน ตรวจสอบคุณภาพอาหาร เช่น ความสะอาด สภาพอาหารและไม่มีกลิ่นเน่าเสีย ความเหมาะสมของภาชนะบรรจุ การปกปิดอาหาร เป็นต้น เมื่อได้รับอาหารจากผู้ขนส่งอาหาร ควรจ่ายค่าบริการโดยวิธี E-Payment หรือเตรียมเงินสดให้พอดี