ทั้งนี้ มั่นใจในประสบการณ์ และความสามารถ ของแพทย์พยาบาล และบุคลากรสาธารณสุขไทย ว่าจะควบคุมการระบาดของโรคนี้ ได้ดีกว่าหลายๆ ประเทศ แต่ที่กังวล คือ เกรงว่า นักการเมืองและผู้บริหาร จะสั่งอะไรผิดๆ ไม่รอบคอบ สั่งโดยไม่มีระบบรองรับ การจะสั่งปิดร้าน ปิดกิจการ รัฐบาลต้องประกาศล่วงหน้า ว่าจะจ่ายเงินชดเชยร้านค้าและกิจการ และแรงงานที่ได้รับผลกระทบ เพื่อให้คนอยู่กับที่ไม่เคลื่อนย้าย แต่เมื่อไม่มีประกาศจ่ายเงินชดเชย จึงกระจายกันกลับบ้าน ตรงข้ามกับเป้าหมายของรัฐบาล ที่ต้องการให้คนไม่เคลื่อนย้าย เพื่อลดการระบาด
หลังจากนี้รัฐบาลต้องเคร่งครัดให้สังคมทำ3 ประการ คือ ทุกคนใส่หน้ากาก , เว้นระยะห่างตัวเรากับคนอื่นๆในสังคม และ ให้ระมัดระวัง ให้อยู่ห่างๆ คนสูงอายุ และคนมีโรคประจำตัว ในบ้าน ซึ่งหลายประเทศประกาศปิดประเทศชั่วคราว เพื่อป้องกันผู้นำเชื้อเข้ามาจากต่างประเทศ ประเทศไทยดูจะป้องกันค่อนได้ข้างดี แม้จะเริ่มช้าไปหน่อย
ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช อดีตรัฐมนตรีคลัง กล่าวถึงวิกฤตไวรัสโควิดที่กระทบกับระบบเศรษฐกิจ ว่า รัฐบาลต้องดูแลระบบเศรษฐกิจไม่ให้เสียหายเกินความจำเป็นทั้ง ธุรกิจรายย่อย (SMEs) แรงงาน และผู้ประกอบอาชีพอิสระ ทั้งในเมืองและในภาคเกษตร เพราะวิกฤตโควิด-19 ได้สร้างความกลัวในสังคม ลดรายได้ แต่เวลานี้ ภาครัฐบาลในหลายระดับ ได้สั่งหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจจำนวนมาก ทำให้ SMEs ยากลำบาก ขาดทุน ไม่มีเงินหมุนเวียน ทำให้แรงงานตกงานเป็นจำนวนมาก ทำให้ประชาชนที่มีอาชีพอิสระไม่มีรายได้
ทั้งนี้ รัฐบาลจึงมีหน้าที่ให้เงินชดเชย กลุ่มคนเหล่านี้ ก่อนสั่งให้หยุดประกอบการ จึงเสนอมาตรการรวม 330,000 ล้านบาท คิดเป็น 2% ของ GDP เพื่อชดเชยรายได้เพื่อประคองประชาชน และประคองระบบเศรษฐกิจโดยรวม คือให้พักหนี้เงินต้น ลดดอกเบี้ย ช่วยค่าน้ำค่าไฟ , ชดเชยรายได้คนที่ต้องตกงาน โดยจ่ายเงินทดแทน 80%
ของรายได้เดิม , ชดเชยรายได้แรงงานผู้ประกอบการอิสระ โดยรัฐบาลเป็นผู้จ้างงาน ทำโครงสร้างบริการพื้นฐานขนาดเล็ก ในหมู่บ้านและชุมชน ให้ประชาชนร่วมคิดร่วมทำใช้อุปกรณ์และแรงงานในท้องถิ่น และ ให้ชดเชยรายได้SMEs โดยรัฐบาลช่วยลดต้นทุน ลดค่าน้ำค่าไฟ ลดค่าดอกเบี้ย ช่วยจ่ายค่าแรงงานเพื่อให้คงการจ้างงาน
นอกจากนี้ รัฐบาลยังต้องทำ QE คือฉีดปริมาณเงินเข้าระบบ ด้วยการซื้อตราสารหนี้ออกไป , ลดดอกเบี้ยให้มากพอ เพื่อให้ปริมาณเงินเพิ่มขึ้น ,ลดภาษีทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อให้เม็ดเงินอยู่ในมือประชาชนเพิ่มขึ้น , ให้ใช้นโยบายคุมอัตราแลกเปลี่ยน จึงจะทำให้รายได้ของประเทศ (GDP) และรายได้ของประชาชนแต่ละคนเพิ่มขึ้น