นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือ โรคALS เป็นโรคที่เกิดจากการเสื่อมสลายของเซลล์ประสาทในสมองและไขสันหลังที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อมีความผิดปกติทำให้กล้ามเนื้อตามแขนและขาอ่อนแรงลง กลืนลำบาก พูดไม่ชัด กล้ามเนื้อช่วยหายใจอ่อนแรงหายใจลำบาก โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย ที่ผ่านมา พบผู้ป่วย 4 – 6 คนต่อประชากร100,000 คน และจะมีโอกาสพบผู้ป่วยรายใหม่ได้ประมาณ 1-3 คน ต่อปี โดยโรคนี้มักจะเกิดในกลุ่มผู้ที่มีอายุระหว่าง 40 – 60 ปี และพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง
โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาโรคนี้ให้หายขาด การรักษาทำได้เพียงบรรเทาอาการและประคับประคองเพื่อให้ผู้ป่วยอยู่ได้นานที่สุด ระยะเริ่มต้น จะรู้สึกว่า มือ เท้า แขนขาอ่อนหรือไม่มีแรง เช่น เดินแล้วล้มบ่อย ยกแขนข้างใดข้างหนึ่งไม่ขึ้น จากนั้นอาการจะเริ่มรุนแรงขึ้นโดยมีอาการกล้ามเนื้อแขนและขาลีบ รับประทานอาหารลำบาก พูดไม่ชัด ระยะที่สอง อาการจะหนักขึ้นจนลามไปถึงระบบหายใจ ทำกิจวัตรประจำวันได้ลำบากมากยิ่งขึ้น เนื่องจากมีอาการเหนื่อยง่ายจากกล้ามเนื้อช่วยหายใจอ่อนแรง ระยะสุดท้าย ผู้ป่วยจะไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ต้องให้อาหารและน้ำทางสายน้ำเกลือ และอาจเสียชีวิตเนื่องจากระบบหายใจล้มเหลว
อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง สามารถกลับไปรักษาตัวที่บ้านได้แต่ต้องกินยาตามแพทย์สั่งตลอดเวลา นอกจากนี้ผู้ดูแลต้องพยายามให้ผู้ป่วยออกกำลังกาย ทำกิจกรรมสม่ำเสมอเพื่อไม่ให้กล้ามเนื้อลีบแบน เกิดแผลกดทับและการติดของข้อ พักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงความร้อนละความเครียด รับประทานอาหารที่อ่อนนุ่มและไม่ต้องเคี้ยวมาก นอกจากนี้คนในครอบครัวและญาติต้องให้กำลังใจและอยู่เคียงข้างเพื่อให้ผู้ป่วยได้ใช้ชีวิตที่เหลืออยู่อย่างมีความสุขที่สุด สำหรับการป้องกัน เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคที่แท้จริงทำให้ไม่สามารถป้องกันได้ แต่มีคำแนะนำด้วยวิธีการดังต่อไปนี้ดูแลสุขภาพตนเองให้ดี หากได้รับเชื้อหรือป่วย ควรรีบพบแพทย์ทันที หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่หนักเกินไป ควบคุมความเครียด หลีกเลี่ยงการรับหรือสัมผัสกับยาฆ่าแมลงหรือพวกโลหะหนักและรังสีรุนแรง ซึ่งจะกระตุ้น ทำให้เซลเสื่อมสภาพและตาย ที่สำคัญออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย และหากสงสัยว่าจะเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยป้องกันไม่ให้โรคลุกลามต่อไป