เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2563 ที่รัฐสภา ถนนเกียกกาย ผู้สื่อข่าวไทยแทบลอยด์ รายงายว่า คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญ ฉบับประชาชน ( ครช. ) และ เครือข่าย People Go Network จำนวนหนึ่ง ได้ตั้งขบวนเดินรณงค์เพื่อเรียกร้องรัฐสภาให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 จากสถานีรถไฟใต้ดินกำเเพงเพชร ตั้งเเต่ช่วงเช้าที่ผ่านมา จนเดินมาทางถึงอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ในช่วงเวลา 11.00น โดยมีเจตจำนงค์ในการยื่นข้อเสนอเพื่อเสนอหลักเกณฑ์และเเนวทางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 อาทิ 2 ประเด็นใหญ่คือ 1.สร้างสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้เข้มแข็ง ไม่นำเหตุความมั่นคงมาอ้างในการจำกัดเสรีภาพ ให้ประชาชนเข้าชื่อถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สร้างหลักประกันด้านรัฐสวัสดิการ และ 2. สร้างกลไกเข้าสู่อำนาจที่ยึดโยงกับประชาชน กำหนดให้ชัดเจนว่านายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส. และ ส.ว.ต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด การปฏิรูปประเทศหรือยุทธศาสตร์ชาติ ต้องไม่เกิดขึ้นโดยคนกลุ่มเดียวและต้องไม่นิรโทษกรรมให้คณะรัฐประหาร
อีกทั้ง ให้ตราพระราชบัญญัติการรับฟังความคิดเห็นของภาคประชาชน เน้นให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น ทั้งในด้านเสนอกฎหมายเเละทางการเมืองต่อองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ให้จัดทำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยให้มีการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ ( สสร. ) ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เรื่องหลักเกณฑ์แก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยอาศัยเพียงเสียงเห็นชอบจากสมาชิกรัฐสภาจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง
ด้านนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาหลักเกณฑ์ และเเนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560 พร้อมด้วย นายรังสิมันต์ โรม นายวรภพ วิริยะโรจน์ สส.อดีตพรรคอนาคตใหม่ นางสาวธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ นางสาวภาดา วรกานนท์ พรรคพลังประชารัฐ นายศุภชัย ใจสมุทร พรรคภูมิใจไทย เเละนายวัฒนา เมืองสุข นายสุทินคลังแสง นาวาอากาศเอก อนุดิษฐ์ นาครทรรพ นายโภคิน พลกุล พรรคเพื่อไทย กรรมาธิการ รับข้อเสนอจากกลุ่มคณะรณงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ( ครช. ) และเครือข่าย People Go Network ณ อาคารรัฐสภาเเห่งใหม่ เกียกกายกรุงเทพมหานคร
โดย นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า ข้อเสนอดังกล่าว เหมือนข้อเสนอฉบับภาคประชาชนทั่วไป โดยคณะกรรมาธิการ จะนำเข้าไปพิจารณาเหมือนชุดอื่นๆ เพื่อสร้างความเสมอภาคเเละเท่าเทียมกันในทุกกลุ่ม โดยการพิจารณาของกรรมาธิการจะเสร็จสิ้นตามกรอบที่สภาผู้เเทนราษฎร ได้กำหนดไว้ เเละคณะกรรมาธิการมีหน้าที่ในการตรวจข้อเท็จจริงของหลักการในรัฐธรรมนูญว่ามีความถูกต้องหรือไม่เท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นว่ารัฐธรรมนูญจะขัดเเย้งกับคนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด โดยมองตามหลักการที่ถูกต้อง อาทิ หลักสิทธิ์เเละเสรีภาพ ว่าดำเนินการตามความถูกต้อง เเละรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีเเล้วหรือยัง ถ้ายังไม่มีควรจะต้องเพิ่มอะไร เเละควรจะมีหลักเกณฑ์ในการแก้ไขเพิ่มเติมอย่างไร เเละรัฐธรรมนูญ คือ กฎหมายของประชาชน ดังนั้น ผู้ที่จะได้รับประโยชน์สูงสุด คือ ประชาชน
ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการมีการหารือถึงการพิจารณาเเก้ไข เเนวทางและหลักเกณฑ์ของรัฐธรรมนูญ 2560 ให้เสร็จภายในสิ้นเดือนมีนาคม ก่อนจะสรุปผลรายงานของคณะกรรมาธิการไม่เกินวันที่ 10 เมษายน 2563 เเล้วจึงส่งรายงานต่อสภาผู้แทนราษฏรต่อไป
ทั้งนี้มีรายงานว่าการชุมนุมเดินขบวนเดินรณงค์เพื่อเรียกร้องรัฐสภาให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ในครั้งนี้ได้มีการขอนุญาตถูกต้องตามกฏหมาย ว่าด้วยการชุมนุมในที่สาธารณะ