นายแพทย์ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า คนไทยป่วยด้วยโรคเบาหวานเพิ่มสูงขึ้น สาเหตุจากพันธุกรรม ความอ้วน พฤติกรรมจากการรับประทานอาหารรสชาติหวานจัด อาหารที่มีไขมันสูง การมีน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน และขาดการออกกำลังกาย ผู้ป่วยโรคเบาหวานจะมีอาการ ปัสสาวะบ่อยในเวลากลางคืน กระหายน้ำบ่อยและมักดื่มน้ำครั้งละมากๆ เหนื่อยและอ่อนเพลียง่าย บางรายอาจมีอาการเบื่ออาหารร่วมด้วย เมื่อเกิดแผลจะหายช้ากว่าปกติ อาจลุกลามและเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย การป้องกันโรคเบาหวาน สามารถทำได้โดย ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ควบคุมน้ำหนักให้คงที่ รับประทานข้าวกล้องแทนข้าวขาว หลีกเลี่ยงอาหารประเภทไขมันและอาหารหรือขนมหวานที่มีรสชาติหวานจัด หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ และรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
พันตำรวจตรีนายแพทย์วิชาญ กาญจนถวัลย์ ผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์การออกกำลังกายและการกีฬา โรงพยาบาลเลิดสิน กรมการแพทย์ กล่าวว่า ผู้ที่มีอาการดังกล่าวควรปรึกษาแพทย์และได้รับการตรวจร่างกายจากแพทย์อย่างละเอียด โดยควบคุมระดับน้ำตาลไม่ให้สูงเกินไป เรียนรู้อาการและวิธีป้องกันภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ตรวจดูเท้าว่ามีแผลหรือการอักเสบหรือไม่ ควรใส่รองเท้าอย่างเหมาะสมสำหรับการออกกำลังกาย และต้องสวมถุงเท้าทุกครั้ง ข้อแนะนำเบื้องต้นในการออกกำลังกายสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน ควรออกกำลังกายอย่างน้อย 5 วัน ต่อสัปดาห์ สัปดาห์ละ 120 – 150 นาที หรือวันละ 30 นาที โดยเริ่มต้นออกกำลังกายแบบเบาๆ ก่อน และเพิ่มขึ้นเมื่อร่างกายแข็งแรง เช่น เดินเร็ว วิ่งเหยาะๆ ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน เริ่มจากอบอุ่นร่างกาย ยืดเหยียดกล้ามเนื้อ และผ่อนคลายกล้ามเนื้อหลังออกกำลังกาย นอกจากนี้ควรเช็คระดับน้ำตาลก่อนและหลังออกกำลังกาย ทั้งนี้การออกกำลังกายด้วยวิธีที่เหมาะสมขึ้นอยู่กับการรักษาและความรุนแรงของโรค หากไม่ทราบว่ามีระดับเบาหวานขนาดใดควรพบแพทย์เพื่อวินิฉัยและให้คำแนะนำในการออกกำลังกายสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานได้อย่างถูกต้อง