หน้าแรกกระบวนการยุติธรรม“บิ๊กตู่”ประธาน ถก ก.ตร. ข้อกฏหมาย ผกก.หนุ่ย”ร้อง บิ๊ก ช้าง”โผล่ร่วมประชุม ในฐานะ คณะกรรมการ ก.ตร.

“บิ๊กตู่”ประธาน ถก ก.ตร. ข้อกฏหมาย ผกก.หนุ่ย”ร้อง บิ๊ก ช้าง”โผล่ร่วมประชุม ในฐานะ คณะกรรมการ ก.ตร.

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 29 มกราคม ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางมาเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ หรือ ก.ตร. ครั้งที่ 1/2562 ที่ห้องประชุมศรียานนท์ ชั้น 2 โดยมีวาระการประชุมที่สำคัญ อาทิ การเยียวยาคืนสิทธิการเลื่อนเงินเดือนเป็นกรณีพิเศษเฉพาะห้วงที่มิได้ปฏิบัติราชการ พร้อมทั้งขออนุมัติเลื่อนเงินเดือนเป็นกรณีพิเศษเฉพาะรายให้แก่ พ.ต.ท.สมยศ ตรีประสิทธิ์ชัย ,ตร.หารือกรณีให้สิทธิข้าตำรวจที่ได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ ตำแหน่งผู้ที่ทำหน้าที่ตรวจสำนวนอัยการและให้ความเห็นทางกฎหมายเพื่อได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษตำแหน่งผู้ที่ทำหน้าที่นิติกร ,อ.ก.ตร.ร้องทุกข์ หารือปัญหาข้อกฎหมายกรณี พ.ต.อ.วทัญญู วิทยผโลทัย ร้องทุกข์ ,อ.ก.ตร.ร้องทุกข์ หารือปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับอำนาจของ จตช.ในการออกคำสั่ง ศปก.ตร. และอำนาจการส่งตัวข้าราชการตำรวจที่กระทำผิดวินัยเรื่องทรงผมไปเข้ารับการฝึกธำรงวินัย กรณี พ.ต.อ.ไพรัตน์ ไพพรรณรัตน์ ร้องทุกข์ ,ตร. หารือปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับวิธีการสอบสวนตามกฎ ก.ตร. ว่าด้วยการสอบสวนพิจารณา พ.ศ.2557 ,เรื่องอื่นๆ ถ้ามี โดยใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาที จึงเสร็จสิ้น

พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย ผู้ช่วย ผบ.ตร. กล่าวว่า กรณีหารือปัญหาข้อกฎหมายกรณี พ.ต.ท.วทัญญู วิทยผโลทัย ได้ร้องทุกข์เมื่อปี 61 ว่าการแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงของสันติบาล มีการตั้งกรรมการสอบวินัยร้ายแรงโดยไม่ได้ตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงก่อนนั้น น่าจะเป็นคำสั่งที่มิชอบ อนุร้องทุกข์ได้พิจารณานำเสนอ ก.ตร. แล้วส่งเรื่องให้อนุกฎหมายพิจารณา วันนี้ได้ข้อสรุปจากอนุกฎหมาย ประเด็นแรกเรื่องการตั้งกรรมการสืบสวนร้ายแรงโดยไม่ตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงก่อนทำได้หรือไม่ ซึ่งทางอนุกฎหมายได้วางหลักเกณฑ์ไว้ว่า สามารถกระทำได้ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติมาตรา 84 และ 86 ประกอบกฎ ก.ตร.ว่าด้วยการสืบสวนข้อเท็จจริง พ.ศ.2556 ข้อ 3 กรณีมีการกล่าวหาว่าข้าราชการตำรวจกระทำผิดวินัยร้ายแรง จะสืบสวนข้อเท็จจริงก่อนหรือไม่ก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่ามีมูลเพียงพอที่จะตั้งกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงหรือไม่ ในกรณีนี้แสดงว่าผู้บัญชาการตำรวจสันติบาลมีความเห็นว่ามีมูล ประเด็นต่อมาถ้าพิจารณาว่ามีมูลเพียงพอหรือไม่ ให้อยู่ในดุลพินิจของผู้บังคับบัญชาจะพิจารณาข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐาน ดังนั้นหากเห็นว่ามีมูลเพียงพอในข้อเท็จจริงก็สั่งการได้ โดยสรุป ก.ตร. ตอบกลับไปว่าการดำเนินการที่ตั้งกรรมการวินัยร้ายแรงโดยไม่สืบสวนข้อเท็จจริงก่อนนั้น สามารถทำได้ตามกฎหมาย

พล.ต.ท.ปิยะ กล่าวอีกว่า อีกกรณีที่พ.ต.อ.ไพรัตน์ ไพพรรณรัตน์ ร้องทุกข์เมื่อปี 61 ว่า พล.ต.อ.สุชาติ ธีระสวัสดิ์ รอง ผบ.ตร. (ขณะดำรงตำแหน่งจเรตำรวจแห่งชาติ) ได้ออกคำสั่งให้พ.ต.อ.ไพรัตน์ มาฏิบัติราชการที่ ศปก.ตร. โดยร้องทุกข์มา 3 ประเด็น เรื่องแรกจเรตำรวจแห่งชาติในขณะนั้นมีคำสั่งให้ข้าราชการตำรวจมาปฏิบัติราชการที่ ศปก.ตร. ได้หรือไม่ ได้ข้อสรุปว่าพล.ต.อ.สุชาติ ไปปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการ ศปก.ตร. ตามคำสั่งของ ผบ.ตร. ดังนั้นจึงมีอำนาจให้ข้าราชการตำรวจมาปฏิบัติราชการที่ ศปก.ตร. ได้ ประเด็นที่2 เมื่อมาอยู่ ศปก.ตร. จเรตำรวจแห่งชาติสามารถส่งตัวไปฝึกธำรงวินัยได้หรือไม่ กรณีดังกล่าวจเรตำรวจแห่งชาติได้อนุมัติจาก ตร. ว่ากรณีถ้าเห็นว่ามีโครงการเพิ่มพูนประสิทธิภาพก็สามารถส่งไปได้ และประเด็นที่ 3 เมื่อจเรตำรวจแห่งชาติพบการกระทำความผิดของข้าราชการตำรวจแล้วดำเนินการทางวินัยได้หรือไม่นั้น กรณีกฎหมายกำหนดไว้ว่ากรรมการดำเนินการทางวินัยเป็นอำนาจของผู้บังคับบัญชา เมื่อจเรตำรวจพบการกระทำผิดของข้าราชการตำรวจ ก็ส่งเรื่องไปทางต้นสังกัดดำเนินการทางวินัยอยู่แล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.ต.อ.ชัยวัฒน์ เกตุวรชัย รอง ผบ.ตร. ที่ถูกย้ายขาดจากตำแหน่งเดิม ไปปฏิบัติราชการที่ ศปก.ตร. ยังคงเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ในฐานะคณะกรรมการ ก.ตร. รวมถึงป้ายชื่อที่เขียนกำกับที่นั่งก็ยังระบุว่าเป็น รอง ผบ.ตร.(สส) ด้วย นอกจากนี้ยังมีรายงานด้วยว่าแม้ พล.ต.อ.ชัยวัฒน์ จะไม่ได้รับผิดชอบหน้างานสืบสวนสอบสวนแล้ว แต่ยังคงทำหน้าที่เป็น ผอ.ศูนย์ปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับน้ำมันเชื้อเพลิง และผอ.ศูนย์ปราบปรามผู้มีอิทธิพล และมือปืนรับจ้าง

RELATED ARTICLES
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img