หน้าแรกเศรษฐกิจ-การเงินNER จ่อเดินเครื่องโรงงานใหม่ มี.ค.นี้ เร่งผลิตยาง 400,000 ตัน รองรับออเดอร์ปี 63

NER จ่อเดินเครื่องโรงงานใหม่ มี.ค.นี้ เร่งผลิตยาง 400,000 ตัน รองรับออเดอร์ปี 63

นอร์ทอีสรับเบอร์ เตรียมเปิดสายการผลิตโรงงานยางแห่งใหม่ กลางมี.ค.นี้ ตั้งเป้าผลิตยางปี 63 กว่า 4 แสนตัน มูลค่ากว่า 20,000 ล้านบาท ส่งผลให้รายได้ปี 63 โตไม่ต่ำกว่า 50% ล่าสุดจับมือ มอ.-มช.วิจัยแผ่นรองพื้นอุตสาหกรรมปศุสัตว์ หวังเจาะตลาดออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ปีละกว่า 3,000 ล้านบาท

นายชูวิทย์ จึงธนสมบูรณ์  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร  บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NER ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง และยางผสม เปิดเผยว่า ในปี 2563 บริษัทฯตั้งเป้าหมายการเติบโตของรายได้ไว้ไม่ต่ำกว่า 50% หลังจากบริษัทฯได้รับคำสั่งซื้อยางเพิ่มขึ้นจากลูกค้าเดิม และลูกค้ารายใหม่หลายราย ประกอบกับโรงงานผลิตแห่งใหม่ซึ่งจะทำการทดสอบสายการผลิตกลางเดือนมีนาคมนี้ และคาดว่าจะเปิดดำเนินงานได้ในไตรมาสที่ 2/63 ทำให้บริษัทมีกำลังการผลิตโดยรวมเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าตัว โดยประมาณการว่าจะสามารถทำยอดขายยางในปี  2563 ได้ราว 400,000 ตัน มูลค่ามากกว่า 20,000 ล้านบาท คาดว่าราคาขายเฉลี่ยในปี 2563 จะสูงกว่าปี 2562 เนื่องจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากการผู้ซื้อยางจากประเทศจีน

สำหรับสัดส่วนยอดขายในปี 63 จะมีการปรับเป็นจากต่างประเทศ 35% และในประเทศ 65% จากเดิมปี 62 ยอดขายจากต่างประเทศอยู่ที่ 40 % และในประเทศ 60 % เนื่องจากผลกระทบของสงครามการค้า ที่ทำให้ฐานการผลิตจากจีนย้ายมาตั้งโรงงานอยู่ที่ประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น ส่วนความคืบหน้าลูกค้ารายใหม่ คือ มิชลิน ผู้ผลิตล้อยางรายใหญ่ของโลก ขณะนี้ขั้นตอนได้ผ่านการตรวจสอบโรงงานของบริษัทฯเรียบร้อยแล้ว หลังจากนี้จะเข้าสู่ขั้นตอนการตรวจสอบตัวอย่างสินค้า จากนั้นจะเป็นการสั่งสินค้าตามสัญญาการซื้อขายอย่างเป็นทางการต่อไป คาดว่าจะมียอดสั่งซื่อเริ่มต้น 1,000 ตันต่อเดือน

นอกจากนี้ในกลางปี 63 บริษัทฯมีแผนที่จะออกผลิตภัณฑ์ใหม่ เป็นสินค้าสำเร็จรูปที่เป็นแผ่นปูนอน และแผ่นรองพื้นในคอกของปศุสัตว์ โดยมีการพัฒนาสูตรการผลิตร่วมกับ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) คาดว่าในเดือนพฤษภาคมนี้ ทางบริษัทจะสามารถส่งสินค้าให้ลูกค้าทดลองใช้ เพื่อนำมาปรับขนาดและสภาพการใช้งาน โดยคาดว่าในอีก 2 ปีข้างหน้าจะสามารถส่งออกแผ่นรองพื้นในคอกของปศุสัตว์ ไปทำตลาดที่ประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ซึ่งบริษัทฯตั้งเป้ายอดขายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวในปี 64 เอาไว้ 3,000 ล้านบาท ซึ่งสินค้าสำเร็จรูปดังกล่าวมีอัตรากำไร (มาร์จิ้น) มากกว่า 20 % ซึ่งจะทำให้บริษัทฯมีกำไรจากผลิตภัณฑ์ดังกล่าวปีละไม่ต่ำกว่า 600 ล้านบาท นอกจากนี้ทางบริษัทฯยังได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) เพื่อพัฒนาสินค้าใหม่ๆเพิ่มเติมอีกด้วย

สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนจากชีวภาพของกระทรวงพลังงานนั้น ทางบริษัทได้เข้าร่วมโครงการไบโอแก๊สดังกล่าวด้วย โดยบริษัทถูกจัดให้อยู่ในกลุ่ม (Quick Win) คือกลุ่มแรกที่จะได้ขายไฟฟ้าก่อน ซึ่งรัฐบาลกำหนดให้ยื่นโครงการในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 63 และขายไฟฟ้าได้ในเดือนมิถุนายน ปี 63 คาดว่าจะสามารถสร้างรายได้ปีละ 400 ล้านบาท จากโรงไฟฟ้าไบโอแก๊สที่มีอยู่แล้ว 2 โครงการ กำลังการผลิตรวมราว 4.3 เมกะวัตต์ ล่าสุดบริษัทฯมีแผนจะขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นรวม 40 เมกะวัตต์ภายใน 2 ปี และบริษัทยังสามารถนำความร้อนจากการปั่นไฟฟ้า มาใช้ในกระบวนการอบยาง สามารถลดต้นทุนการใช้แก๊ส ได้ถึงวันละ 70,000 บาท จากปัจจุบันที่ต้องใช้แก๊สอยู่ที่ 150,000 บาทต่อวัน

อย่างไรก็ตามคาดว่าผลประกอบการในปี 62 รายได้รวมจะเติบโต 30% ตามเป้าจากปี 61 ที่มีรายได้รวม 10,084.01 ล้านบาท หลังจากมีการเพิ่มกำลังการผลิตเป็นไปตามแผนที่วางไว้ อีกทั้งยังมีคำสั่งซื้อจากลูกค้ารายใหญ่ในประเทศเพิ่มขึ้น จนทำให้กำลังการผลิตของบริษัทเต็ม 100 % แล้วในขณะนี้ นอกจากนี้บริษัทยังคาดว่าจะสามารถรักษาอัตรากำไรได้ดีจากการป้องกันความเสี่ยงของราคายางที่ผันผวนด้วยวิธี matching order โดยเมื่อมีคำสั่งซื้อจะสต็อกยางไว้ส่งมอบด้วยราคาที่ตกลงกันในเวลานั้น ไม่ได้เป็นการรับคำสั่งซื้อมาก่อน แล้วค่อยหาสินค้ามาส่งมอบภายหลังซึ่งราคาอาจจะไม่เท่าเดิม

RELATED ARTICLES
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img