เมื่อวันที่ 29 พ.ย. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) มีหนังสือบันทึกข้อความ ที่ 009.331/ ลงวันที่ 26 พ.ย. เรื่องมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาข้าราชการตำรวจกระทำอัตวินิบาตกรรม (ฆ่าตัวตาย) ใจความว่า จากสภาพปัญหาสังคมที่มีความซับซ้อน ส่งผลต่อสภาพจิตใจของข้าราชการตำรวจ จนนำไปสู่ความเครียดกระทบต่อพฤติกรรมการดำเนินชีวิตของข้าราชการตำรวจ จนเป็นสาเหตุของการฆ่าตัวตาย ตร. จึงมีคำสั่งที่ 570/2562 ลง 10 ต.ค.2562 แต่งตั้งคณะทำงานป้องกันและแก้ไขปัญหาข้าราชการตำรวจกระทำอัตวินิบาตกรรม (ฆ่าตัวตาย) เพื่อศึกษาสาเหตุ กำหนดวิธีการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ข้าราชการตำรวจเป็นรูปธรรม แล้วเสนอมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขข้าราชการตำรวจกระทำอัตวินิบาตกรรม (ฆ่าตัวตาย) จึงได้กำหนดมาตรการ 3 ระยะ ดังนี้
1.ระยะเร่งด่วน
ให้ผู้บังคับบัญชา ประเมินผู้ใต้บังคับบัญชาที่มีลักษณะกลุ่มเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย ด้วยการสังเกตุพฤติกรรมที่ส่งผลให้เกิดความเครียดอย่างรุนแรง ดังนี้ มีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติงาน เช่น มีความกดดันจากการปฎิบัติหน้าที่ความขัดแย้งระหว่างเพื่อนร่วมงานหรือผู้บังคับบัญชาหรือผู้ใต้บังคับบัญชา การจริงจังกับชีวิตและการทำงานมากเกินไป ถูกดำเนินการทางวินัยหรืออาญา ถูกกล่าวหาให้เสื่อมเสียชื่อเสียง เป็นต้น
มีปัญหาส่วนตัวและครอบครัว เช่น ความสัมพันธ์ ความขัดแย้งภายในครอบครัว ครอบครัวแตกแยก รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย ภาระหนี้สินจำนวนมาก มีภาระต้องดูแลครอบครัวมาก ปัญหาชู้สาว เป็นต้น มีปัญหาทางบุคลิกลักษณะหรือสุขภาพจิต เช่น ซึมเศร้า สิ้นหวัง โดดเดี่ยว ความรู้สึกโกรธที่ไม่แสดงออกได้โดยตรง มีความผิดปกติทางอารมณ์หรือบุคลิกภาพ เป็นต้น มีปัญหาสุขภาพ ได้แก่ เป็นโรคร้าย เรื้อรัง รักษาไม่หาย เป็นโรคที่ทำให้เกิดความพิการ อาการเจ็บป่วยรุนแรงทรมาน ไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ติดสุราเรื้อรังหรือติดสารเสพติด เป็นต้นหรือมีประวัติเคยพยายามฆ่าตัวตายมาก่อนโดยผู้บังคับบัญชาต้องทำความเข้าใจ ให้คำแนะนำ ช่วยเหลือ สอดส่องดูแล เอาใจใส่อย่างใกล้ชิดกับผู้มีความเสี่ยงต่อการตัดสินใจฆ่าตัวตาย ทั้งในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงและผู้มีความเสี่ยงต่ำ ตลอดจนปฏิบัติการช่วยเหลือยับยั้งได้ทันท่วงที โดยประสานโรงพยาบาลตำรวจ หรือสถานพยาบาลในพื้นที่ ทำการช่วยเหลือและรักษา ทั้งนี้ให้ผู้บังคับบัญชาเฝ้าระวัง ติดตาม ตลอดจนการช่วยเหลือฟื้นฟูผู้มีปัญหาสุขภาพจิตและการส่งเสริมความเข้มแข็งด้านจิตใจอย่างต่อเนื่อง
กรณีมีข้าราชการตำรวจฆ่าตัวตาย อันเกิดจากปัญหาความบีบคั้นจากสภาพการปฎิบัติงานหรือปัญหาชีวิตส่วนตัวที่มีต่อข้าราชการตำรวจผู้นั้น หากพบว่าเป็นข้ราชการตำรวจกลุ่มเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายแต่ผู้บังคับบัญชาปล่อยปละละเลย หรือไม่สอดส่อง กำกับดูแลช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน จนเกิดความสูญเสียแก่ชีวิต ให้พิจารณาความบกพร่องของผู้บังคับบัญชาตามคำสั่ง ตร. ที่ 1212/2537 ลง 1 ต.ค.2537 เรื่อง มาตรการควบคุมและเสริมสร้างความประพฤติและวินัยข้าราชการตำรวจ ให้ทุกหน่วยงานในระดับ กก. และระดับสถานีตำรวจ แต่งตั้ง “คณะกรมการสร้างเสริม
คุณภาพชีวิตข้าราชการตำรวจและครอบครัว” คณะหนึ่ง ประกอบด้วยข้าราชการตำรวจในสังกัดที่มีความเหมาะสม และอาจมีบุคคลภายนอกซึ่งเป็นผู้ที่เชื่อถือเข้าร่วมเป็นกรรมการได้ โดยให้มีอำนาจหน้าที่วิคราะห์ ศึกษาสาเหตุ ปัญหา และให้ความช่วยหลือข้าราชการตำรวจกลุ่มเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายอย่างเร่งด่ว โดยประสานโรงพยาบาลตำรวจ หรือถานพยาบาลในพื้นที่ การขอความร่วมมือกับผู้นำศาสนาเพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ตลอดจนเครือข่ายชุมชนทุกภาคส่วน อันนำไปสู่การแก้ไขปัญหาข้าราชการตำรวจฆ่าตัวตาย มอบหมายให้โรงพยาบาลตำรวจ จัดอบรมให้แก่ “คณะกรรมการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตข้าราชการตำรวจและครอบครัว” ที่ทุกหน่วยงานจัดตั้งขึ้น เพื่อให้ความรู้และทักษะเกี่ยวกับแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาข้าราชการตำรวจฆ่าตัวตาย รวมถึงการดูแลจิตใจของผู้พยายามฆ่าตัวตาย เพื่อเป็นต้นแบบ เป็นที่ปรึกษาและถ่ายทอดความรู้ ความเข้าใจของปัจจัยและสาเหตุ วิธีการสังเกตสัญญาณเตือนที่จะนำไปสู่การฆ่าตัวตายและมีความสามารถในการระงับยับยั้งการพยายามฆ่าตัวตายหรือรับมือกับปัญหาสุขภาพจิตได้ ให้ทุกหน่วยงานประชาสัมพันธ์ให้ข้าราชการตำรวจในสังกัดได้รับทราบในการเข้าถึงบริการทางด้านสุขภาพจิต ติดต่อโรงพยาบาลตำรวจ สายด่วน Depress We Care หมายเลข 081-9320000 ผ่านทาง inbox ของ Facebook Page : Depress We Care และสายด่วนสุขภาพจิต หมายเลข 1323 ให้ สท. ประสานข้อมูลกับโรงพยาบาลตำรวจ ประชาสัมพันธ์ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันการ ฆ่าตัวตาย แนวทางการเฝ้าระวังและการดูแลเบื้องต้น โดยจัดทำเป็นวีดีทัศน์หรือสื่อออนไลน์ต่างๆ และจัดส่งไปยังหน่วยงานต่างๆ เพื่อเผยแพร่ให้แก่ข้าราชการตำรวจทราบโดยทั่วกัน
2.ระยะกลาง
กำชับให้ทุกหน่วยงานจัดให้มีการตรวจสุขภาพข้าราชการตำรวจประจำปี ซึ่งเป็นการตรวจทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต ภาวะการติดสุราเรื้อรังหรือสารเสพติด และมีนักจิตวิทยาร่วมตรวจด้วย โดยประสานโรงพยาบาลตำรวจ หรือสถานพยาบาลในพื้นที่ แล้วรายงาน ตร. ทราบเป็นประจำทุกปี
ให้ บช.ศ,, รร.นรต. และศูนย์ฝึกอบรมประจำหน่วยงาน สอดแทรกเนื้อหาการวางแผนการเงินส่วนบุคคล ไว้ในหลักสูตรการฝึกอบรมต่างๆ ซึ่งมิใช่หลักสูตรการฝึกทางยุทธวิธีตำวจ ตามความเหมาะสมกับระยะเวลของหลักสูตร เพื่อเสริมสร้างวินัยทางการเงินและป้องกันปัญหาการมีหนี้สินล้นพ้นตัว ให้ จต, ตรวจสอบการดำเนินการตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาข้าราชการตำรวจกระทำอัตวินิบาตกรรม (ฆ่าตัวตาย) ของทุกหน่วยงานในการตรวจราชการประจำปี
3.ระยะยาว
มอบให้โรงพยาบาลตำรวจจัดตั้งศูนย์เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาข้าราชการตำรวจกระทำอัตวินิบาตกรรม (ฆ่าตัวตาย) โดยจัดทำรายละเอียดโครงสร้างอำนาจหน้าที่ และแนวทางการดำเนินงานนำเสนอ ตร. พิจารณาต่อไป
ในขณะเดียวกัน ผบ.ตร.ยังได้มีหนังสือคำสั่งถึง จเรตำรวจแห่งชาติ รอง ผบ.ตร. ผู้ช่วยผบ.ตร. ผบช.หรือแหน่งเทียบเท่า ผบก.หรือ ตำแหน่งเทียบเท่า ในสังกัดสำนักงาน ผบ.ตร. เรื่องมาตรการป้องกันและปัญหาหนี้สินข้าราชการตำรวจและลูกจ้างประจำ ตร.ใจความว่า ตามหนังสือ ตร. ที่ 0009.332/ว 90 ลงวันที่ 4 ธ.ค. 2558 แจ้งมาตรการป้องกันและแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการตำรวจและลูกจ้างประจำ ตร. ให้ทุกหน่วยงานถือปฏิบัติ นั้น เพื่อให้การช่วยเหลือข้าราชการตำรวจและลูกจ้างประจำ ตร. ที่มีปัญหาในการชำระหนี้ให้สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติ และป้องกันการมีภาระหนี้สินจนเกินกำลังความสามารถในการชำระหนี้ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงกำชับให้ทุกหน่วย จัดทำโครงการแก้ไขบัญหาหนี้สินข้าราชการตำรวจและลูกจ้างประจำ ตร. สำหรับผู้ที่มีหนี้ วิกฤติหรือมีปัญหาในการชำระหนี้ โดยให้พิจารณาเชิญเจ้าหนี้ทุกรายเข้าร่วมเจรจาตกลงแก้ไขปัญหาการชำระหนี้ ของลูกหนี้แต่ละราย พร้อมทั้งขอความร่วมมือสหกรณ์ออมทรัพย์ของหน่วยงานที่ลูกหนี้เป็นสมาชิกเข้าร่วมเจรจาเพื่อช่วยแก้ไขปัญหา โดยให้พิจารณาช่วยเหลือกลุ่มผู้ที่ถูกฟ้องล้มละลายเป็นลำดับแรก
“ให้สำรวจผู้มีหนี้หรือมีปัญหาในการชำระหนี้ เพื่อเข้าร่วมโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินของหน่วยงาน เจ้าหน้าที่การเงินของหน่วยงานออกหนังสือรับรองเงินเดือน ให้ถูกต้องครบถ้วนตรงตามความเป็นจริง ในการใช้เป็นหลักฐานประกอบการพิจารณาขอกู้เงิน ผู้บังคับบัญชาที่ให้การรับรองการกู้ของข้าราชการตำรวจ ให้พิจารณาด้วยความรอบคอบ และคำนึงถึงศักยภาพในการชำระหนี้เป็นข้อมูลประกอบการรับรองด้วย เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาการชำระหนี้ในอนาคต นอกจากนี้ให้ จต. ตรวจสอบการดำเนินการแก้ใขปัญหาหนี้สินข้ราชการตำรวจและลูกจ้างประจำ ตร. ของทุกหน่วยงาน ในการตรวจราชการประจำปี”หนังสือดังกล่าว ระบุ