นายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊คส่วนตัว ‘Korn Chatikavanij‘ กล่าวว่า ICO – Crypto โอกาสหรือมหันตภัย การลงทุนคือการต่อสู้ระหว่าง ‘ความโลภ’ กับ ‘ความกลัว’ เมื่อกลัวมากกว่าโลภก็ ‘ขาย’ เมื่อความโลภทำให้กล้ามากกว่ากลัวก็ ‘ซื้อ’ ความเปลี่ยนแปลงและนวัตกรรมก็เหมือนกัน ทุกคนอยากใช้ของใหม่เพราะรู้ว่ามันเป็นประโยชน์ แต่ก็กลัวว่าความไม่รู้และไม่เข้าใจจะทำให้มีอันตราย เราก็เลยมักจะกล้าๆกลัวๆ ซึ่งเป็นสัญชาติญาณธรรมชาติ แต่เมื่อความเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่เราไประงับไว้ไม่ได้ เราก็ต้องหาวิธีอยู่กับมัน และใช้มันให้เป็นประโยชน์ มิเช่นนั้นเราจะเสียโอกาสและล้าหลังผู้อื่น อย่างตลาดหุ้น หากย้อนหลังไป 10 ปี ใครที่กล้าลงทุนจะได้ผลตอบแทน 125% ในขณะที่คนที่กลัว อาจจะได้ดอกเบี้ยเงินฝากเพียงปีละ 0.5% แน่นอนที่สุดผมเองมองว่า ICO และ Crypto นั้นเสี่ยงกว่าหุ้นมาก แต่ก็เป็นโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุนโดยผู้ประกอบการขนาดเล็กที่ไม่เคยมีมาก่อน ที่มาของความกลัวส่วนหนึ่งคือการขาดความรู้ความเข้าใจ และความเหลื่อมล้ำทางโอกาสส่วนหนึ่งก็คือ ‘ความรู้’ ที่ต่างกันนั่นเอง

นายกรณ์ กล่าวต่อไปว่า เมื่อมีเทคโนโลยีใหม่เราจึงไม่ควรให้ความกลัวครอบงำ แต่ต้องใฝ่หาความรู้ และวิธีการที่ดีที่สุดที่จะเรียนรู้คือการทดลอง และการเปิดโอกาสให้ผู้มีความรู้และมีประสบการณ์เข้ามาเกี่ยวข้องให้มาก และพร้อมกันนั้นหาวิธีสกัดไม่ให้พวกฉวยโอกาสเข้ามาสร้างความเสียหาย ในกรณี ICO และ Crypto จึงควรให้มืออาชีพมีโอกาสทดลองประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ ส่วนหนึ่งก็เพื่อให้ประชาชนมีผู้แนะนำที่มีความเป็นสถาบัน นี่คือหลักการพัฒนาตลาดหลักทรัพย์ที่ใช้กันมาหลายสิบปี ทำให้ตลาดเรามีความเข้มแข็ง ซึ่งวันนี้เพื่อนบ้านเราล้วนแต่หยิบยกเป็นตัวอย่างความสำเร็จการพัฒนาตลาดทุน งานของฝ่ายกำกับในยุคนี้ยากมากขึ้นเพราะกฎหมายตามนวัตกรรมไม่ทัน (แต่อย่าลืมว่าเรามีตลาดหลักทรัพย์มานานก่อนจะที่จะมีพรบ. หลักทรัพย์) ฝ่ายกำกับส่วนใหญ่จะคุ้นเคยกับการ ‘ควบคุม’ มากกว่าการ ‘พัฒนา’ จึงจำเป็นต้องฝืนสัญชาตญาณตัวเองที่จะออกกฎระเบียบปิดท่ออ็อกซิเจน หรือออกระเบียบป้องกันตนเองจนเกินไป

นายกรณ์ กล่าวด้วยว่า ในช่วงหลายวันที่ผ่านมามีการเหมารวมโดยกระทรวงคลังว่า crypto เป็น ‘การพนัน’ และมีประกาศแบงค์ชาติไม่ให้ธนาคารพาณิชย์มามีส่วนเกี่ยวข้องแม้กระทั่งในการให้ความรู้เรื่อง crypto กับลูกค้า ซึ่งผมกลับมองว่าสถาบันการเงินนั่นแหละที่น่าจะเป็นที่พึ่งของประชาชนที่สนใจในเรื่องนี้ได้ดีที่สุด สัญญานที่ส่งออกมาจากทางการล้วนแต่เป็นทางลบ ซึ่งเป็นแนวทางที่สวนกับนโยบาย 4.0 ทั้งสิ้น ทางรัฐบาลพูดทุกวันว่าต้องการส่งเสริมนวัตกรรม ต้องการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งทุน และต้องการส่งเสริม fintech

“ใครก็พูดได้ครับ แต่ก่อนอื่นต้องยอมรับว่าทุกการเปลี่ยนแปลงมีความเสี่ยง ขึ้นอยู่กับว่าคุณมีความสามารถแค่ไหนที่จะบริหารความเสี่ยงนั้นให้มีความพอดี วันนี้เรายังหาความพอดีนี้อยู่” นายกรณ์ กล่าว