ดูเหมือนว่าข่าวสารการลงทุนในปี 2019 นี้จะมีแต่ข่าวร้ายตั้งแต่เรื่องสงครามการค้าที่ยืดเยื้อ, Brexit ที่ดูแล้วจะไม่จบลงง่ายๆ, เศรษฐกิจโลกที่อยู่ในช่วงชะลอตัว GDP เติบโตในระดับต่ำไม่ถึง 3% และปัญหาหนี้ที่ทั่วโลกเริ่มเป็นกังวลว่าอยู่ในระดับสูง นักเศรษฐศาสตร์และนักลงทุนที่มีชื่อเสียงหลายท่านเช่น Robert Shiller นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลมองว่า ในปี 2020 โอกาสเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย Recession น้อยกว่า 50% แต่อาจเป็นปีเริ่มต้นของช่วง Recession ขณะที่ทางด้าน Ray Dalio ผู้จัดการกองทุน Bridge water มองว่าในปี 2020 มีโอกาสเกิด Recession 25% และแม้แต่บริษัท Berkshire Hathaway ของสุดยอกนักลงทุนอย่าง Warren buffet ก็ยังถือเงินสดสูงถึง 120,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 60% ของพอร์ตการลงทุน เห็นไหมครับ แม้แต่นักลงทุนที่มีฝีมือและมีชื่อเสียงยังกังวลกับเศรษฐกิจ แล้วเราในฐานะนักลงทุนรายย่อยก็ควรจะต้องหาวิธีรับมือสำหรับการลงทุนในแนวโน้มที่เศรษฐกิจโลกเติบโตช้าลงและไม่สดใสในอีก 1-2 ปีข้างหน้ากันบ้าง
คุณศรชัย สุเนต์ตา ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ศูนย์วิเคราะห์ข้อมูลด้านการลงทุนและที่ปรึกษาการลงทุน (CIO Office) ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ช่วงตุลาคม 2007 – สิ้นปี 2008 ที่ตลาดหุ้นทั่วเกือบทั่วโลกปรับตัวลดลงกว่า -50% นั้น ยังมีหุ้นบางกลุ่มที่ปรับตัวลดน้อยกว่าตลาด หรือแม้กระทั่งให้ผลตอบแทนบวกสวนทางกับดัชนีตลาดหุ้น เพราะถึงแม้เศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร ก็ยังมีสินค้าหรือบริการที่ผู้บริโภคอย่างเราจำเป็นต้องซื้อสินค้าและใช้บริการ เช่น หุ้นกลุ่มค้าปลีกอย่าง CPALL และ WALMART มีผลตอบแทน +8.85% และ +26.06% ตามลำดับ หรือ หุ้นกลุ่มอาหารอย่าง McDonald’s ที่เป็นร้านอาหาร Fast Food ยอดนิยมและมีสาขากระจายไปยังทั่วโลกก็ปรับตัวสูงขึ้น +16.36% เหตุผลที่หุ้นกลุ่มดังกล่าวข้างต้นได้รับผลกระทบน้อยกว่าอื่นนั้นไม่ได้มาจากอุตสาหกรรมอย่างเดียว แต่มาจากการที่ธุรกิจนั้นมีกระแสเงินสดที่ดีและวงจรเงินสดที่สั้น ธุรกิจเหล่านี้เวลาขายของให้ลูกค้าจะได้รับเป็นเงินสดจากลูกค้า แต่เวลาซื้อของกับคู่ค้านั้นได้เครดิตการค้าอีก 2-3 เดือน จึงค่อยจ่ายชำระค่าสินค้า ซึ่งแตกต่างกับธุรกิจอื่นที่มักขายเชื่อให้กับลูกค้าและเมื่อเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงก็ทำให้ลูกค้าอาจขอเลื่อนขยายการชำระเงินหรือเป็นหนี้เสียได้
ทั้งนี้ CIO Office มองว่า เราอาจไม่สามาถทำนายได้อย่างแม่นยำว่าวิกฤตเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ แต่เราสามารถเตรียมพร้อมรับมือให้กับการลงทุนของเราได้ โดยการลดความเสี่ยงของสินทรัพย์ที่นักลงทุนถือ เช่น ลดการใช้ Leverage และ Margin ในการลงทุน , เน้นลงทุนในหุ้นกลุ่ม Defensive หรือบริษัทที่มีความสามารในการแข่งขันที่สูง (Competitive Advantage) เน้นบริษัทที่มีกระแสเงินสดที่ดี ตามคำพูดที่ว่า “Cash Flow is King” อย่างไรก็ตาม การกระจายความเสี่ยงก็เป็นเรื่องที่สำคัญเทียบเท่ากับเลือกสินทรัพย์ที่ดี ดังนั้นอย่าลืมการจัดพอร์ตการลงทุนที่มีสินทรัพย์ที่หลากหลายหรือไม่ควรถือไข่ไว้ในตะกร้าใบเดียวนะครับ