นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กทม. พรรคประชาธิปัตย์ เขียนบทความภายใต้ชื่อเรื่องว่า “ปฏิรูปตำรวจ ฝันอันห่างไกล” โดยกล่าวว่า ผ่านมา 3 ปีกว่า ประเทศไทยภายใต้การปฏิรูปโดย คสช. เอาเข้าจริงแล้ว ผิดหูผิดตาไปจากที่คาดหวังไว้มาก เรียกได้ว่าพลิกจากหน้าเป็นหลังเลย รากฐานวิธีคิดไม่ได้มาจากประชาชนแต่เป็นวิธีคิดเพื่อรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ราชการ เลยอยากชวนแฟนๆ คอลัมน์ตั้งข้อสังเกตเรื่องปฏิรูปตำรวจ ที่ผ่านมาต้องยอมรับความจริงว่า แม้เจ้าหน้าที่ตำรวจหลายคนหรือโดยส่วนใหญ่จะเป็นตำรวจที่ดี ทำหน้าที่ดูแลประชาชน แต่ประชาชนจำนวนไม่น้อยมีความรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ

ผมขออธิบายแบบคร่าวๆ ว่า ก่อนรัฐประหารโดยคสช. นั้น การบริหารงานบุคคลแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ

1.) คณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) ทำหน้าที่แต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ตามที่นายกรัฐมนตรีเสนอ หรือ ก.ต.ช.ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน แต่งตั้ง ผบ.ตร.”

2.) คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ทำหน้าที่แต่งตั้งโยกย้ายนายพลระดับ ผู้บัญชาการภาคต่างๆ หรือเทียบเท่า หรือ ก.ตร.ที่มีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานแต่งตั้ง นายพล

3.) หัวหน้าหน่วยงานในระดับกองบัญชาการระดับพลตำรวจโท หรือ ผู้บัญชาการ แต่งตั้งโยกย้าย นายพัน หรือสัญญาบัตรอื่นๆ หรือ ผู้บัญชาการ แต่งตั้ง นายพัน นายร้อย ที่สำคัญคือหัวหน้าสถานีในระดับผู้กำกับการ

จะเห็นได้ว่าโครงสร้างที่มีนักการเมืองทั้ง นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ก.ต.ช.และรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงเป็นประธาน ก.ตร.มี 2 แนวคิด มองในแง่ดี มันก็สะท้อนระบบตัวแทนในระบอบประชาธิปไตย ที่เลือกนักการเมืองมาบริหารประเทศ นักการเมืองก็ต้องบริการประเทศให้ดีมีธรรมาภิบาล และกำกับให้ตำรวจทำหน้าที่ให้ดี ให้สมกับที่ประชาชนมุ่งหวัง คือเข้าวงจร ประชาชนตั้งนักการเมือง นักการเมืองตั้งตำรวจ หากตำรวจรังแกประชาชน นักการเมืองก็ต้องจัดการ แต่หากมองอีกแง่ ถ้าได้เลือกตั้งแล้วได้นักการเมืองไม่ดี ไม่ทำหน้าที่ตัวแทนประชาชนให้เหมาะสมตำรวจก็จะกลายเป็น “ตำรวจของนักการเมือง”

ผมเชื่อว่าสิ่งที่ประชาชนทุกคนอยากเห็นคือการทำให้ตำรวจเป็น “ตำรวจของประชาชน” โดยแท้จริง จึงเกิดแนวคิดในการปฏิรูปตำรวจกันอย่างกว้างขวาง จนเป็นประเด็นสำคัญในภารกิจตามรัฐธรรมนูญที่ผ่านการทำประชามติด้วยคะแนนเสียงจากประชาชนมาอย่างท่วมท้น ภายใต้ภารกิจปฏิรูปกลไกระบบยุติธรรม เดี๋ยวมาดู กันต่อว่าฝันนี้มันยังห่างไกลอย่างไร

หลังรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 เป็นต้นมา การแต่งตั้งตำรวจในระดับนายพัน นายร้อย คือ ตำรวจ ที่ใกล้ชิดกับพื้นที่ในระดับผู้กำกับ รองผู้กำกับ สารวัตร เดิมอำนาจแต่งตั้งอยู่ที่หัวหน้าหน่วยงานในระดับ ผู้บัญชาการยศพลตำรวจโท ก็ถูกริบคืนไปรวมศูนย์เป็นอำนาจของ ผบ.ตร. ตัวอย่างเช่น เดิมถ้าจะย้ายตำรวจยศพันตำรวจเอกระดับผู้กำกับโรงพักป่าตองภูเก็ต ไปเป็นผู้กำกับโรงพักเมืองกระบี่ จะเป็นอำนาจของหัวหน้าหน่วยงานคือ ผู้บัญชาการภาค 8 ที่คุม 7 จังหวัด ใกล้เคียงกัน แต่หลังรัฐประหารอำนาจนี้ไปอยู่กับ ผบ.ตร. จึงอาจจะทำให้การโยกย้ายช่วงหลังๆ มานี้มีชื่อตกหล่น ตั้งผิดตัวผิดตำแหน่งไปบ้างเพราะรวมศูนย์ที่เดียว การ ทำโผโยกย้ายมันยากขึ้นเพราะมันท็อปดาวน์มากขึ้น ท่านผบ.ตร.คงจำลูกน้องได้ไม่หมด

คราวนี้มาดูแนวทางในอนาคตที่จะเปลี่ยนไป ที่ อ้างว่าคือ “การปฏิรูปตำรวจ” คือ โครงสร้างของ ก.ตร. จากมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ก็จะมอบให้ ผบ.ตร. ทำหน้าที่แทน ซึ่งก็คือหน้าที่แต่งตั้งนายพล โดยเฉพาะแต่งตั้งระดับผู้บัญชาการ ที่เป็นหัวหน้าหน่วยงาน ตามผลสรุปแนวทางการปฏิรูปการบริหารงานบุคคลของคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ ที่มี พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เป็นประธาน เรียกได้ว่าเป็นการ โอนอำนาจจากนักการเมือง ไปให้ข้าราชการตำรวจ แต่งตั้งโยกย้ายกันเอง รวมศูนย์อำนาจไว้ที่ข้าราชการตำรวจด้วยกันเอง เรียกได้ว่าสูตรปฏิรูป “ตำรวจของตำรวจ” นั่นเอง ทว่า ฝันปฏิรูปตำรวจที่ประชาชนต้องการน่าจะเป็น “ตำรวจของประชาชน” มากกว่า คือ 1.ระดับชาติ โดยการกำกับของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทำหน้าที่ดูแลหน่วยงานที่ส่วนกลางจำเป็นต้องกำกับ อาทิ กองบัญชาการสอบสวนกลาง ตำรวจสันติบาล ตำรวจตระเวนชายแดน ฝ่ายนิติวิทยาศาสตร์ พิสูจน์ หลักฐาน 2.ระดับจังหวัด โดยให้มีกองบัญชาการตำรวจจังหวัด การทำงบประมาณ บริหารงาน แต่งตั้ง โยกย้าย การเจริญเติบโตในสายงาน ให้เป็นเรื่อง ภายในจังหวัด โดยให้มีคณะกรรมการตำรวจจังหวัดเป็นฝ่ายกำกับดูแล ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน มีกรรมการจาก อัยการ ผู้บัญชาการตำรวจจังหวัด ตัวแทนตำรวจชั้นสัญญาบัตรและชั้นประทวน อดีตตำรวจจังหวัดนั้นๆ และตัวประชาชนทั้งชาย และหญิง

ข้อดีของระบบนี้ ป้องกันไม่ให้มีการซื้อขายตำแหน่งกันข้ามจังหวัดเพื่อหาผลประโยชน์ หรือกลั่นแกล้งโยกย้ายไปที่ไกลๆ อีกทั้งยังเป็นประโยชน์เรื่องประสิทธิภาพการทำงาน รู้จักพื้นที่ มีความคุ้นเคยประชาชน นี่น่าจะเป็นความมุ่งหมายที่แท้จริงในนิยาม ตำรวจเก่งดีที่ไหนเจริญที่นั่น และหากชั่วที่ไหนก็จม ที่นั่นเช่นกัน ตำรวจต้องสง่าภาคภูมิ ไม่ต้องวิ่งตำแหน่งให้เหนื่อย เป็น “ตำรวจของประชาชน”

ผมอยากชวนให้คิดเห็นกันว่า “สิ่งที่ฝัน” กับ “สิ่งที่ทำ” มันสวนทางกันหรือไม่ ? ตลอด 3 ปีกว่าแล้ว ที่ คสช. เข้ามาทำงานปฏิรูปประเทศ เราควรจะได้เห็นการกระจายอำนาจสู่มือประชาชนโดยตรง มากกว่ามือตัวแทนประชาชนหรือไม่ หรือจะยิ่งหนักกว่าเดิมคืออำนาจรวมศูนย์ในมือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่

แต่ทุกอย่างก็อยู่ที่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ที่จะตอบคำถามเหล่านี้ ด้วยการกระทำและใช้อำนาจเด็ดขาดที่มีอยู่ เพราะการเลือกตั้งจะช้าหรือเร็วนั้น คงไม่สำคัญทำเท่ากับปฏิรูปก่อนเลือกตั้งจะเกิดได้หรือไม่ และการปฏิรูปนั้นจะเป็นไปตามที่ประชาชนต้องการจริงไหม

สุดท้ายแล้ว ที่ คสช. อยู่ได้ทุกวันนี้ ยังมีประชาชนสนับสนุน ไม่ได้เป็นเพราะปืนที่ถืออยู่ แต่เป็นคำสัญญาที่ท่านจะปฏิรูปประเทศให้ดีขึ้น…โปรดฟังอีกครั้งหนึ่ง ปฏิรูปนะครับ ไม่ใช่บริหารราชการปกติ

 

Attawit