รมช.เกษตรฯ “ธรรมนัส” เร่งโทรฯ ประสาน รมว.ทรัพย์ฯ แก้ปัญหาพื้นที่ทับซ้อน “ส.ป.ก.วังน้ำเขียว-อุทยานแห่งชาติทับลาน” ระบุอยู่รัฐบาลเดียวกันต้องมีทางออกให้ชาวบ้าน
วันที่ 6 ส.ค.62 : ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่าตนได้โทรศัพท์ประสานกับ นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.กระทรวงทรัพย์ฯ ในเรื่องให้นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) และที่ปรึกษารมช.เกษตรฯ ไปคุยหาทางออกกับอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ เรื่องแนวเขตทับซ้อนระหว่างพื้นที่ส.ป.ก.และพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปในทิศทางเดียวกันที่ถูกต้องตามกฏหมาย รวมทั้งจะเกิดความร่วมมือกันแก้ปัญหาเรื้อรังให้เกิดประโยชน์มากที่สุดกับพื้นที่และชุมชน
“วันนี้ผมประสาน กับรมว.ทรัพย์ฯ และสั่งการให้เลขาฯ ส.ป.ก.กับที่ปรึกษารมช.เกษตรฯ ไปปรึกษาหาทางออกร่วมกันอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ ในกรณีปัญหาทับซ้อนพื้นที่วังน้ำเขียว ให้เป็นทิศทางเดียวกัน เพราะมาจากรัฐบาลเดียวกัน เอาหลักฐานที่พี่น้องประชาชนอยู่ในป่าให้เขามาร่วมพัฒนาชาติไทย ออกมาอยู่ในพื้นที่ส.ป.ก.เพื่อจัดสรรให้อยู่ทำกิน ดังนั้นการกำหนดขีดแนวเขตกรมอุทยานแห่งชาติทับลาน กับพื้นที่ส.ป.ก.ได้ใช้แผนที่ตัวไหนจากอดีต เมื่อมีความชัดเจนก่อน จึงเดินหน้ากันต่อไปได้ ทั้งสองกระทรวง” ร.อ.ธรรมนัส กล่าว
ด้านแหล่งข่าวจากสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เปิดเผยว่ากรณีพื้นที่ทับซ้อนยังหาข้อยุติไม่ได้กว่า 20 ปี ในพื้นที่ส.ป.ก.วังน้ำเขียว กับพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน เพราะสาเหตุมาจากกรมอุทยานแห่งชาติฯ ไม่ยอมประกาศใช้แนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ที่ได้ทำขึ้นใหม่ในปี 2534 ได้ใช้อัตราส่วน 1 ต่อ 4 พัน ซึ่งขณะนั้นกรมป่าไม้ และกองอุทยานฯได้ใช้งบประมาณกว่าพันล้านบาทในการปรับปรุงแนวเขตใหม่ให้ตรงตามสภาพพื้นที่จริงโดยมติครม.ถึงสองครั้งให้แก้ไขให้แล้วเสร็จ เพราะปัญหาแนวเขตเดิมของอุทยาน ปี 2524 ที่ประกาศคร่อมทับหลายตำบลในหลายอำเภอ วังน้ำเขียว,ครบุรี และปักธงชัย เป็นแผนที่มีความละเอียดมาก ยังใช้เป็นแผนที่ที่ยื่นต่อคณะกรรมการมรดกโลก ได้ขึ้นทะเบียนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เป็นมรดกโลกและขอขึ้นทะเบียนอุทยานแห่งชาติทับลาน เป็นมรดกโลกด้วย แต่กรมอุทยานฯกลับไม่นำไปประกาศใช้แผนที่ปี 2534 ให้มีผลบังคับใช้ในพื้นที่พิพาษ จึงทำให้ยังไม่มีสภาพบังคับทางกฏหมาย และเป็นอุปสรรคใหญ่ที่ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่สามารถเดินหน้าตามกฏหมายของแต่ละหน่วยงานได้ เช่นพระราชกฤษฏีประกาศแนวเขตพื้นที่ส.ป.ก.ปี 2521 ตามที่กรมป่าไม้ ได้ยกป่าสงวนแห่งชาติวังน้ำเขียว ให้เป็นพื้นที่ส.ป.ก.เมื่อปี 2520
ปัจจุบันตำบลไทยสามัคคี อำเภอวังน้ำเขียว และบางตำบลใน อ.ครบุรี ยังไม่สามารถรังวัดให้เอกสารสิทธิ์ ส.ป.ก.4-01 กับชาวบ้านในหลายพื้นที่ รวมบางรีสอร์ท ถูกอัยการ สั่งไม่ฟ้อง ทั้งที่บุกรุกในพื้นที่พิพาษ อีกทั้งปัญหาการทำงานของกรมอุทยานฯ นำแนวเขตอุทยานแห่งชาติปี 2521 มาบังคับใช้ ปิดป้ายรื้อถอน ใช้มาตรา 22 กับรีสอร์ท 140 กว่าแห่ง แต่บางแห่งอัยการสั่งไม่ฟ้อง รวมทั้งรีสอร์ท 88 การ์มองเต้ ทั้งนี้ มีรีสอร์ทที่อยู่ใกล้กันกับ 88 การ์มองเต้ พบว่าเป็นของส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคร่วมรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งเป็นพรรคเก่าแก่ และมีภรรยา เป็นคนโคราช เป็นเจ้าของ กำลังติดตามว่าอัยการจะสั่งฟ้องหรือไม่ ซึ่งกำลังพิจารณาคดีภายในวันสองวันนี้
ทั้งนี้ที่ผ่านมาในพื้นที่เกิดข้อฟ้องร้องกันจำนวนมาก ทั้งสั่งฟ้องบ้างไม่ฟ้องบ้าง จึงทำให้มองว่านักการเมือง นายทุนใหญ่ ที่มีที่ดิน มีบ้านหรูๆในวังน้ำเขียวโดยใส่ชื่อนอมินี เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่มาจากการซื้อขายเปลี่ยนมือไปหมดแล้ว ไม่ถูกดำเนินคดี แต่ชาวบ้านทั่วไปจะโดนดคีก่อน