หน้าแรกไลฟ์สไตล์'กรมการแพทย์' เตือน หลายอาชีพที่มีความเสี่ยง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง

‘กรมการแพทย์’ เตือน หลายอาชีพที่มีความเสี่ยง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง

นายแพทย์สมศักดิ์  อรรฆศิลป์  อธิบดีกรมการแพทย์  เปิดเผยว่า โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง คือโรคความบกพร่องอย่างเรื้อรังในการไหลผ่านของอากาศในระบบทางเดินหายใจ และมักจะแย่ลงเมื่อเวลาผ่านไป อาการที่พบบ่อยได้แก่ มีเสมหะ เหนื่อย อ่อนเพลีย หายใจเสียงวี๊ด และไอ อาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นเป็นเวลานาน และโดยมากจะแย่ลงเรื่อยๆ ซึ่งสาเหตุของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังนั้น ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่ามีปัจจัยเสี่ยงหลายประการด้วยกัน ได้แก่ การสูบบุหรี่ มลพิษในอากาศ  การสูดควันบุหรี่มือสอง พันธุกรรม การติดเชื้อของทางเดินหายใจ และทำงานสัมผัสกับความเสี่ยงที่มีในโรงงานอุตสาหกรรม อาชีพที่มีความเสี่ยงต่อโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ได้แก่ บุคคลที่ทำงานในเหมืองถ่านหิน โรงงานทอฝ้าย โรงงานทำเซรามิค โรงสีข้าว โรงโม่แป้ง โรงหลอมโลหะ โรงเลื่อยไม้ งานที่เกี่ยวกับสีย้อมต่างๆ ช่างก่อสร้างหรือผสมปูนซีเมนต์ ชาวนา รวมไปถึงพนักงานดับเพลิง ล้วนมีความเสี่ยงต่อโรคดังกล่าว ดังนั้นประชาชนที่มีอาชีพดังกล่าวข้างต้น ควรดูแลสุขภาพโดยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ งดการสูบบุหรี่ที่ทำให้มีโอกาสเกิดโรคมากขึ้น พร้อมสวมอุปกรณ์ป้องกันก่อนการปฏิบัติงาน และถ้ามีอาการข้างต้นควรไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาต่อไป

นายแพทย์สมบูรณ์  ทศบวร  ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กล่าวว่า แนวทางการรักษาโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังประกอบด้วย การหยุดสาเหตุที่ทำให้เกิดโรค  และการรักษาประคับประคองตามอาการ โดยการให้ยาขยายหลอดลม การให้ยาลดการอักเสบ/ยาแก้อักเสบกลุ่มสเตียรอยด์ การทำกายภาพบำบัด โดยเลือกวิธีออกกำลังกายให้เหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละราย เพื่อฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ทำให้ออกแรงใช้งานได้มากขึ้น
ไม่เหนื่อยง่าย การฝึกวิธีหายใจออก เพื่อไม่ให้อากาศคั่งค้างอยู่ในปอดมากเกินไป พร้อมกับการดูแลด้านโภชนาการ ให้ผู้ป่วยได้รับพลังงานจากอาหารที่เพียงพอในแต่ละวัน ไม่ให้น้ำหนักลด/ผอมลงเรื่อยๆ เพราะจะทำให้ยิ่งเหนื่อย ดังนั้นผู้ปฏิบัติงานในอาชีพที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง เมื่อพบมีอาการเหนื่อย การไอเรื้อรัง มีเสมหะ และมีประวัติของการได้รับสัมผัสกับปัจจัยเสี่ยงของโรค ควรตรวจสมรรถภาพปอด เพื่อยืนยันการวินิจฉัย หยุดสาเหตุที่ทำให้เกิดโรค และจะได้รักษาอาการต่อไป แต่เหนือสิ่งสำคัญใด ๆ ทั้งหมดนั้นคือ การป้องกันตนเองก่อนเริ่มต้นปฏิบัติงาน

 

กรมการแพทย์

RELATED ARTICLES

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img