หน้าแรกการเมืองศาลรัฐธรรมนูญหยิบยกคดี 'ธนาธร' ถือหุ้นวี-ลัคมีเดีย เข้าที่ประชุมหารือ

ศาลรัฐธรรมนูญหยิบยกคดี ‘ธนาธร’ ถือหุ้นวี-ลัคมีเดีย เข้าที่ประชุมหารือ

มีรายงานว่า คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้มีการประชุมใช้เวลาประมาณ 3 ชม. โดยที่ประชุมได้มีการพิจารณาคำร้องขอให้ตรวจสอบคุณสมบัติของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กรณีถือครองหุ้นบริษัท วี–ลัค มีเดีย จำกัด ประกอบธุรกิจสื่อ อันเป็นลักษณะต้องห้ามมิให้สมัครเป็นส.ส. และอาจเป็นเหตุให้ต้องสิ้นสุดสมาชิกภาพ ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98(3) หรือไม่ ภายหลังนายธนาธร ได้มอบอำนาจให้ฝ่ายกฎหมายของพรรคอนาคตใหม่ ยื่นคำชี้แจงพร้อมหลักฐานแก้ข้อกล่าวหา เมื่อวันที่ 8 ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันครบกำหนดกรอบขยายเวลา 30 วัน

ทั้งนี้ ในการประชุมวันนี้ที่ประชุมได้หยิบยกกรณีดังกล่าวเข้าสู่การหารือเป็นวาระเพิ่มเติม แต่ยังไม่มีข้อสรุปว่าจะออกนั่งบัลลังก์ไต่สวนเพิ่มเติมหรือจะนัดวันประชุมลงมติตามพยานหลักฐานที่ฝ่ายผู้ร้องและผู้ถูกร้องยื่นชี้แจงในวันใด ดังนั้นจึงเลื่อนการพิจารณาออกไปก่อน

ส่วนกรณีที่นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งคำร้องมายังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้พิจารณาวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัว เพราะเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐหรือไม่ ที่ประชุมยังไม่ได้หยิบยกเรื่องดังกล่าวมาพิจารณา

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในการประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีการพิจารณารับคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่ได้มีการยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคมที่ผ่านมา รวมจำนวน 70 หน้า และเอกสารประกอบการชี้แจง 50 รายการ รวม 200 หน้า กรณีถูกคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวหาว่าถือครองหุ้นสื่อ บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ทำให้อาจขาดคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่ง ส.ส.นั้น

โดยศาลได้ให้มีการส่งสำเนาคำชี้แจงทั้งหมดให้กับ กกต.ในฐานะผู้ร้อง เพื่อให้พิจารณาและชี้แจงกลับมาว่ามีข้อคัดค้านใดในคำชี้แจงของนายธนาธรหรือไม่ โดยให้ กกต.ชี้แจงกลับมาภายใน 15 วัน รวมทั้งมอบหมายให้ฝ่ายวิชาการของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญไปสรุปประเด็นคำชี้แจง พร้อมทั้งความเห็นนำเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งหลังจากศาลได้รับข้อมูลทั้ง 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายของนายธนาธร , ฝ่ายของ กกต.และฝ่ายวิชาการของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ แล้วก็จะได้มีการกำหนดแนวทางในการพิจารณาคดีต่อไป


 

RELATED ARTICLES

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img