นายแพทย์ปานเนตร ปางพุฒิพงศ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคข้อเข่าเสื่อมเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ พบมากในผู้สูงอายุและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้ที่มีภาวะข้อเข่าเสื่อมมากถ้าไม่ได้รับการรักษา หรือปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสม จะทำให้เกิดความเจ็บปวด ข้อเข่าผิดรูป เดินได้ไม่ปกติ การปฏิบัติกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ ทำได้ไม่สะดวก จะมีความทุกข์ทรมานทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ โรคข้อเข่าเสื่อมเป็นโรคเรื้อรังชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุเกิดจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น อายุที่เพิ่มขึ้นน้ำหนักตัวมาก การปฏิบัติตัวที่ไม่เหมาะสมมีผลต่อข้อเข่าโดยตรง อาทิ นั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิ นั่งยองๆ เป็นต้น ผู้สูงอายุโดยส่วนใหญ่ที่มีอาการข้อเข่าเสื่อม มักเริ่มจาก มีอาการปวดข้อเข่าเป็นๆ หายๆ และจะปวดมากขึ้นเมื่อมีการใช้งานข้อมากๆ หากมีอาการเรื้อรังมากจะมีอาการปวดตลอดเวลา รวมทั้งอาจมีเสียงดังในข้อ ข้อเข่าฝืด ยึดตึงในช่วงหลังตื่นนอนตอนเช้า หากเป็นรุนแรงมากอาจทำให้เกิดข้อเข่าผิดรูปและมีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อบริเวณรอบข้อเข่า ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้สูงอายุในการใช้ชีวิตประจำวัน
นายแพทย์ประพันธ์ พงศ์คณิตานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวร เพื่อผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคข้อเข่าเสื่อมในผู้สูงอายุการรักษาในระยะแรกจะมุ่งเน้นเพื่อลดอาการปวดหรือลดการอักเสบ และทำให้ข้อเข่าเคลื่อนไหวได้ปกติ โดยมีแนวทางในการรักษา ได้แก่ การใช้ความร้อนประคบรอบๆ เข่า เพื่อลดอาการปวดเกร็ง การบริหารกล้ามเนื้อเข่าให้แข็งแรงเสมอ การใช้สนับเข่าเพื่อกระชับข้อ บรรเทาอาการปวด ใช้ไม้เท้าช่วยเดินเพื่อลดแรงกระแทกของเข่า ลดน้ำหนักในรายที่อ้วนมากเพื่อลดแรงกระแทกของข้อเข่า ในรายที่เป็นมากอาจใช้ยาและการผ่าตัด ซึ่งต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ ทั้งนี้ จากแนวทางที่กล่าวมาข้างต้น เป็นแนวทางเบื้องต้นในการรักษาข้อเข่าเสื่อม แต่การรักษาโดยการทำกายภาพบำบัด หรือแพทย์ทางเลือก เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ผู้สูงอายุสามารถเลือกรักษาได้ เช่น การฝังเข็มในโรคข้อเข่าเสื่อม พบหลักฐานยืนยันว่าสามารถช่วยลดอาการปวดได้ การนวดและประคบสมุนไพร รวมทั้งทำกายภาพบำบัด ได้แก่ การบำบัดด้วยเครื่อง อัลตราซาวนด์ เพื่อลดอาการปวดและลดการอักเสบ การรักษาด้วยเครื่องฝึกกำลังเพื่อเพิ่มกำลังกล้ามเนื้อและกระตุ้นกล้ามเนื้อด้วยกระแสไฟฟ้า