ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยผู้กรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า สำนักวิจัยฯได้ปรับมุมมองเศรษฐกิจไทยในครึ่งหลังปี 2562 ต่อเนื่องไปยังปี 2563 โดยปรับทั้งมุมมองอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) และมุมมองนโยบายการเงิน เดิมเมื่อเดือนธันวาคมปี 61 สำนักวิจัยฯ มองจีดีพีปี 62 ขยายตัว 3.7% ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่สำนักวิจัยคาดการณ์ไส้ค่อนข้างต่ำ วันนี้ได้ปรับมุมมองมาอยู่ที่ 3.3% สำหรับปี 62 และ 3.2% สำหรับปี 63 สะท้อนถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่อ่อนแรงลง
ปัจจัยเชิงบวกสำคัญที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้ น่าจะต้องหวังพึ่งนโยบายสำคัญของรัฐบาลใหม่ซึ่งน่าจะฟอร์มทีมคณะรัฐมนตรีชุดใหม่พร้อมตั้งรัฐบาลใหม่เสร็จภายในเดือน ก.ค นี้ สำนักวิจัยฯ มองว่ารัฐบาลใหม่สามารถออกนโยบายมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ซึ่งจะแบ่งเป็น 3 นโยบายหลักๆ คือ
1).นโยบายดูแลสินค้าภาคเกษตรและกำลังซื้อภาคเกษตร ดูแลรายได้ของเกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นการประกันรายได้ ดูแลราคาสินค้า ดูแลให้เศรษฐกิจเติบโตและเข้าถึงระดับของคนยากจนได้ หากทำได้ก็จะเป็นแรงผลักดันในการกระจายรายได้เข้าไปสู่ในภาคต่างจังหวัด
2).นโยบายค่าครองชีพ รัฐบาลชุดใหม่น่าจะสานต่อจากรัฐบาลชุดก่อน
คือการใช้มาตรการผ่านบัตรสวัสดิการภาครัฐ โดยการโอนเงินของภาครัฐเข้าสู่ผู้คนจน น่าจะประคองกำลังซื้อของคนระดับล่างหรือผู้มีรายได้น้อย
เชื่อว่ารัฐบาลน่าจะสานต่อและดูแลค่าครองชีพไม่ให้ขยับขึ้นมากนัก
3).การลงทุนภาครัฐ ปัจจุบันยังล่าช้า ถ้ารัฐบาลสามารถเดินหน้าการลงทุนได้อย่างเร่งด่วนก็จะดึงความเชื่อมั่นของเอกชนให้เข้ามาลงทุนก็จะทำให้เศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนได้
โดยรวมแล้วเชื่อว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดที่รัฐบาลต้องทำอย่างเร่งด่วน คือ
การดึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนโดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาให้ได้เร็วที่สุด เพราะเรากำลังจะมีการเจรจาการค้า FTA กับต่างประเทศ โดยเฉพาะโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ซึ่งตรงนี้จะผลักดันเศรษฐกิจไทยให้แข็งแกร่งได้ ท่ามกลางความเสี่ยงจากภาคต่างประเทศ
ส่วนมุมมองของนโยบายการเงิน สำนักวิจัยฯ ได้ปรับมุมมองนโยบายการเงินอย่างชัดเจน จากสงครามการค้าที่จะนำมาสู่สงครามค่าเงิน และกลายเป็นประเด็นที่สำคัญที่ต้องติดตามว่าจะเห็นการปรับลดของดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจหรือไม่ เดิมมองว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายตลอดทั้งปีไว้ที่ 1.75% แต่เมื่อ กนง. ส่งสัญญาณเป็นหว่งเรื่องของทิศทางของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลงจากสงครามการค้า จนมากระทบการส่งออกของไทยโดยคาดว่าการส่งออกครึ่งแรกของปีจะหดตัว 3% ส่วนครึ่งหลังจะหดตัวเพียงเล็กน้อย และเฉลี่ยทั้งปีคาดปีคาดว่าส่งออกจะหดตัวราว 1% กว่า หากการส่งออกลำบากก็จะกระทบการลงทุน เอกชนก็จะลังเลที่จะขยายกำลังการผลิต ทำให้ กนง. ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจ เราจึงมองว่า สุดท้ายแล้ว ธปท. ตะกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลดดอกเบี้ยเพื่อช่วยลดต้นทุนทางการเงิน กระตุ้นให้เกิดการลงทุน การบริโภค โดยสำนักวิจัยฯ คาดว่า กนง. จะปรับลดดอกเบี้ยอย่างน้อย 2 ครั้งภายใน 12 เดือนนี้ จาก 1.75% จะเหลือ 1.5% ภายในสิ้นปีนี้ และจะลดอีกครั้งหนึ่งสู่ระดับ 1.25% ภายในปีหน้า รวมปรับลด 0.5% ซึ่งอาจจะปรับลดในการประชุมติดกัน หรืออาจจะไม่ก็ได้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ
สุดท้ายเรื่องค่าเงินบาท ที่แข็งค่าวันนี้กำลังมาจากสงครามการค้าที่ลามมาสู่สงครามค่าเงิน หลายประเทศในภูมิภาคธนาคารกลางหลายแห่งเริ่มส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยเพื่อพยายามทำให้ค่าเงินตัวเองอ่อนค่า ดังนั้น ธปท.จะทำอย่างไรในบริบทที่ค่าเงินบาทนั้นแข็งค่ามากที่สุดในภูมิภาค เราจะป้องกันไม่ให้ค่าเงินบาทแข็งค่ารุนแรงจนกระทบการส่งออกและทำให้เศรษฐกิจชะลอแค่ไหน สำนักวิจัยฯคาดเงินบาทจะแข็งค่าได้อีกเล็กน้อยที่ระดับ 30.55 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในปลายปีนี้ ก่อนที่จะมีโอกาสอ่อนค่าไปแตะที่ระดับ 32.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในปลายปีหน้า ด้วยปัจจัยสำคัญคือความชัดเจนในการหยุดลดดอกเบี้ยของสหรัฐในปีหน้า ขณะที่ดอกเบี้ยไทยได้ปรับลดลงตามดอกเบี้ยในตลาดโลกในที่สุด