นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า คนไทยยังไม่คุ้นเคยกับคำว่า วัณโรคกระดูก แต่แท้ที่จริงแล้วเป็นอีกโรคที่พบบ่อยในคนไทยและสามารถถ่ายทอดไปยังผู้อื่นได้ จากการสูดเอาละอองเสมหะของผู้ป่วยวัณโรคที่ไอ จาม หรือหายใจรด หรืออาจติดต่อได้จากการรับประทานอาหาร และภาชนะใส่อาหารที่มีเชื้อวัณโรคปนเปื้อน วัณโรคกระดูกเกิดจากการได้รับเชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ร่างกายทางปอด เมื่อปอดติดเชื้อ จะทำให้เกิดวัณโรคปอด ทั้งนี้เชื้อดังกล่าวจะซึมผ่านกระแสเลือดแล้วลุกลามเข้าทำลายอวัยวะส่วนอื่นๆ เช่น ต่อมน้ำเหลือง สมอง ไต รวมทั้งกระดูก เมื่อเข้าทำลายกระดูกจึงเรียกว่าวัณโรคกระดูก ซึ่งเชื้อจะทำให้กระดูกยุบตัว หลังโก่งงอ มีหนองหรือเศษกระดูก หมอนรองกระดูกเคลื่อน และเมื่อเข้าสู่ไขสันหลังจะเกิดการกดทับประสาทที่ไขสันหลังทำให้เป็นอัมพาตที่ขาได้
สำหรับอาการของวัณโรคกระดูกในช่วง 1-2 สัปดาห์แรก จะมีอาการปวดเมื่อยตามตัว จนกระทั่งผ่านไป 1 เดือน อาการปวดจะชัดเจนขึ้น อาจมีไข้ต่ำๆ ในตอนเย็น ร่วมกับเบื่ออาหาร น้ำหนักลด และอาจคิดว่าเป็นอาการปวดหลังธรรมดา หากปล่อยไว้นานจะทำให้กระดูกสันหลังโก่งงอ เพราะเชื้อไปทำลายกระดูก ถ้าหากมีการกดทับระบบประสาทจะทำให้ขาชา อุจจาระ ปัสสาวะลำบาก ต่อมน้ำเหลืองโต เดินกะเผลก ซึ่งตำแหน่งที่พบบ่อย ได้แก่ ข้อสันหลัง ข้อต่อสะโพก ข้อเข่า ข้อไหล่ ข้อมือ กระดูกสันหลังส่วนเอว
นายแพทย์สมพงษ์ ตันจริยภรณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเลิดสิน กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ป่วยหลายคนมักคิดว่าปวดหลังเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้ จึงไม่เอะใจมาพบแพทย์ กว่าจะมาพบต้องรอให้ปวดหลังมากๆ จนร่างกายทนไม่ไหว ดังนั้นไม่ควรทิ้งไว้นาน ควรมาพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาโดยเร็ว ซึ่งการวินิจฉัยว่าจะเป็นวัณโรคกระดูก สามารถตรวจทางรังสี เพื่อดูว่ากระดูกถูกทำลาย มีการโก่งตัวร่วมด้วย หรือหมอนรองกระดูกแคบลงซึ่งเป็นสัญญาณว่าเชื้อวัณโรคกำลังทำลายกระดูกสันหลัง การตรวจด้วยซีทีสแกน หรือเอ็มอาร์ไอ เพื่อดูว่ามีหนองและการทำลายกระดูกสันหลังหรือไม่ สำหรับการรักษาเพื่อกำจัดเชื้อวัณโรคป้องกันไม่ให้มีการกดทับระบบประสาท รวมทั้งป้องกันไม่ให้กระดูกสันหลังผิดรูปได้ ให้ยาต้านวัณโรคกระดูกและข้อในรายที่มีอาการไม่มาก ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่อง และในกรณีที่เป็นมากแล้ว การรักษาด้วยยาไม่ได้ผลจะใช้วิธีผ่าตัดรักษา
ทั้งนี้วิธีป้องกันตนเองให้ห่างไกลจากวัณโรคกระดูก คือ รักษาสุขภาพให้แข็งแรงเสมอ ออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อให้ภูมิคุ้มกันแข็งแรง พยายามอยู่ในที่ปลอดโปร่ง หายใจสะดวก หากไอหรือจามควรใช้ผ้าหรือกระดาษปิดปาก เพื่อไม่ให้เชื้อโรคแพร่กระจายและทิ้งกระดาษลงในถังขยะที่มีฝาปิดให้เรียบร้อย ที่สำคัญควรตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี