นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุใจความว่า นี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่วุฒิสภาเป็นกลไกการสืบทอดอำนาจของเผด็จการทหาร
ตามประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญไทย หลายครั้ง วุฒิสภากลายเป็นกลไกที่คณะรัฐประหารใช้ในการสืบทอดอำนาจ ด้วยเกรงว่า หากกลับไปสู่ระบบปกติ มีการเลือกตั้ง ส.ส.แล้ว คณะรัฐประหารจะไม่สามารถครองอำนาจ และชี้นำการเมืองได้ต่อไป ดังนั้นพวกเขาจึงต้องเพียรพยายามในการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ กำหนดให้วุฒิสภามี “วิญญาณ” ของพวกเขาสิงสถิตย์เสมอ
การอภิปรายของนายสมภพ โหตระกิตย์ ในที่ประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2505 คงเป็นประจักษ์พยานได้อย่างดี
“ถ้าหากว่า เราต้องการที่จะให้ผลงานที่เป็นอยู่ในปัจจุบันซึ่งยังไม่สำเร็จในเวลานี้ได้สำเร็จต่อไปในอนาคต การให้มีสภาเดียวจากบุคคลที่ไม่รู้ในอนาคต ไม่รู้จะมาจากประเภทใดบ้าง ย่อมเป็นอันตรายอย่างยิ่งสำหรับผลงานที่เราต้องการให้มีผลในอนาคต เพราะฉะนั้น หลักประกันที่ดีที่สุด คือ ให้มีสองสภา ให้มีดุลแห่งอำนาจที่จะคอยต่อสู้กับบุคคลที่มาเป็นตัวแทนราษฎรซึ่งเราไม่อาจคาดหมายได้ว่ามาในอุดมคติอันใด”
นายสมภพ โหตระกิตย์ อภิปรายในที่ประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญ, วันที่ 11 มกราคม 2505.
…
การร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนั้น ใช้เวลาเกือบ 10 ปี ผ่านรัฐบาล สฤษดิ์-ถนอม ในท้ายที่สุดประเทศไทยจึงได้รัฐธรรมนูญ 2511 ซึ่งมีวุฒิสภาเป็นกลไกสำคัญของคณะรัฐประหาร
วุฒิสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญ 2511 จำนวน 120 คน มีทหาร 88 คน
แล้ววุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญ 2560 ล่ะ?
จะมีคนที่ทำงานกับระบอบ คสช.กี่คน?
จะมีทหารกี่คน?
จะมีคนที่เคยเป็น สนช ตั้งแต่หลังรัฐประหาร 49 และ 57 กี่คน?
จะมีคนที่เคยเป็น สว แต่งตั้งกี่คน?
จะมีคนที่เป็นพี่ น้อง ผัว เมีย ลูก ญาติ ของคนในระบอบ คสช. กี่คน?
สังคมการเมืองไทยเสมือนท่าเต้นมูนวอล์คเกอร์ ดูเหมือนเดินหน้า แต่ถอยหลัง
เราเดินหน้าแต่เลขปี พ.ศ. แต่ระบอบรัฐธรรมนูญและสภาพการเมืองย้อนหลังกลับไปหลายทศวรรษ