น.ส.พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรคอนาคตใหม่ กล่าวถึงกรณีที่กระทรวงการต่างประเทศ แถลงพาดพิง นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เป็นผู้เชิญตัวแทนทูต และตัวแทนองค์กรระหว่างประเทศ 12 คน มาติดตามการแจ้งข้อกล่าวหา ที่ สน.ปทุมวัน เมื่อวันที่ 6 เม.ย.ที่ผ่านมา ว่า ช่วงเย็นของวันที่ 4 เม.ย.เจ้าหน้าที่ของสหประชาชาติ หรือยูเอ็น ติดต่อมายังพรรคอนาคตใหม่ ทนายความของนายธนาธร และ สน.ปทุมวัน ด้วยตนเอง ว่าจะขอเข้าร่วมสังเกตการณ์การแจ้งข้อกล่าวหามาตรา 116 ต่อนายธนาธร ในวันที่ 6 เม.ย.ซึ่งเรื่องนี้สามารถสอบถามไปยัง สน.ปทุมวัน เองได้ ในส่วนของท่านทูตจากสหรัฐอเมริกา , แคนาดา สหภาพยุโปร หรืออียู นั้น พรรคอนาคตใหม่มีความสัมพันธ์อันดีอยู่แล้ว ทั้ง 12 ตัวแทนจากต่างประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศที่จะมาร่วมสังเกตการณ์ พรรคอนาคตใหม่รู้ล่วงหน้า เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการประสานสื่อมวลชน และ สน.ปทุมวัน
น.ส.พรรณิการ์ กล่าวอีกว่า ต่อให้นายธนาธรเป็นผู้เชิญเอง ถ้าไม่ใช่ประเด็นน่าห่วงกังวลจริงๆ ตัวแทนนานาชาติเหล่านี้ก็จะไม่ร่วมติดตามสถานการณ์ เพราะมีธรรมเนียมทางการทูตในการทำงานอยู่ แต่ที่ 12 ตัวแทนนานาชาติมาร่วมสังเกตการณ์นั้น เพราะเห็นว่า การให้กฎหมายความมั่นคงตามมาตรา 116 ฐานยุยงปลุกปั่นนั้นถือเป็นเรื่องร้ายแรงมาก และน่ากังวลมากขึ้นไปอีกเมื่อถูกใช้กับหัวหน้าพรรคการเมือง ที่เพิ่งลงเลือกตั้งครั้งแรก แต่ได้รับ ส.ส.ถึง 80 กว่าที่นั่ง ซึ่งคดีดังกล่าวอยู่ในขอบเขตของศาลทหาร พลเรือนจะต้องถูกนำขึ้นศาลทหารนั้น ไม่ใช่เรื่องปกติ ทั้งยังสงสัยว่า ทำไมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลายปีแล้ว จึงถึงถูกหยิบหยกมาใช้ในช่วงนี้ ซึ่งข้อห่วงกังวลเหล่านี้ ในการหารือร่วมกันที่ สน.ปทุมวัน พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร.ก็รับทราบดี
“การที่กระทรวงการต่างประเทศแถลงนั้น ดิฉันไม่ได้มองว่าเป็นการดิสเครดิตทางการเมือง แต่มองว่าเป็นการสร้างเครดิตทางการเมืองให้นายธนาธรเสียมากกว่า ที่สามารถเชิญ 12 ตัวแทนจากนานาชาติมาร่วมได้ สำหรับการที่ คสช.แถลงยืนยันศาลทหารมีความเป็นกลางนั้น ก็เป็นสิทธิ แต่เรื่องความเป็นกลางนั้นเป็นคนละเรื่องเดียวกันกับ การนำพลเรือนขึ้นศาลทหาร เพราะในประเทศที่ยึดถือระบอบประชาธิปไตย ประเทศเจริญแล้ว ไม่มีใครนำพลเรือนขึ้นศาลทหาร” โฆษกพรรคอนาคตใหม่ กล่าว