ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ อาจารย์สาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขียนบทความ “ปมเงื่อนของความสัมพันธ์ระหว่างเสรีนิยมกับประชาธิปไตย” ระบุว่าความขัดแย้งแบ่งสีเสื้อทางการเมืองไทย ในแง่มุมหนึ่งเป็นการต่อสู้กันระหว่างแนวคิด “เสรีนิยม (liberalism)” กับแนวคิด “ประชาธิปไตย (democracy)” อย่างไรก็ตามการปกครองแบบ “เผด็จการอำนาจนิยม (authoritarianism) – เผด็จการเบ็ดเสร็จ (totalitarianism)” ต่างหากที่เป็นอันตรายต่อแนวคิดทั้ง 2 แบบข้างต้น ดังนี้
“ในฐานะผู้อ่านค้นคว้าวิจัยและสอนวิชาทฤษฎีการเมืองว่าด้วยเสรีประชาธิปไตยต่อเนื่องกันมานานหลายปี ผมเองเป็นผู้เสนอไว้เป็นคนแรกในบริบทสังคมการเมืองไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2550 ว่าความขัดแย้งระหว่างเสื้อเหลืองกับเสื้อแดงในแง่หนึ่งเป็นความขัดแย้งระหว่างหลักเสรีนิยมกับหลักประชาธิปไตย”
“หลักเสรีนิยม (liberalism) ที่ยึดถือเสรีภาพของปัจเจกบุคคลทางความคิดจิตใจ (Immanuel Kant) กับเสรีภาพของปัจเจกบุคคลทางเศรษฐกิจ (Adam Smith) เป็นสรณะ ฉะนั้นจึงเน้นการจำกัดอำนาจรัฐ (limitation of power) vs หลักประชาธิปไตย (democracy) ที่ยึดถือความเสมอภาคของปัจเจกบุคคล (egalitarianism) และอำนาจอธิปไตยของปวงชน (popular sovereignty) เป็นสรณะ หรือเมื่อคนเราเท่ากัน อำนาจย่อมเกิดจากตัวเลข ตัวเลขมากกว่ามีอำนาจมากกว่า ตัวเลขน้อยกว่ามีอำนาจน้อยกว่า หนึ่งคนหนึ่งเสียง ฉะนั้นจึงเน้นการกระจายอำนาจการเมือง (distribution of power)”
“เพื่อให้เสรีนิยมกับประชาธิปไตยดำรงอยู่ควบคู่กันได้ในรูประบอบเสรีประชาธิปไตย (liberal democracy) ต่างฝ่ายต่างต้องสละหรือ edit ตัวเอง ยอมลดทอนหลักการของตนไปบางส่วนเพื่อให้อยู่คู่กับอีกฝ่ายได้ โดยหลักเสรีนิยมยอม edit หลักจำกัดสิทธิออกคะแนนเสียงเลือกตั้งไว้เฉพาะผู้มีทรัพย์และผู้มีการศึกษา (limited suffrage) แต่เดิมทิ้ง และยอมรับสิทธิออกคะแนนเสียงเลือกตั้งทั่วไปแทน (universal suffrage) ส่วนหลักประชาธิปไตยก็ยอม edit ความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ (economic equality) ของตนทิ้งและยอมรับให้ผู้คนใช้เสรีภาพแข่งกันแสวงหาทรัพย์สินจนแตกต่างเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจกันได้ คงเหลือไว้แต่หลักความเสมอภาคทางการเมือง (political equality)”
“จากนั้นจึงสามารถประกบประกอบเสรีนิยมที่ edit ตัวเองแล้วเข้ากับประชาธิปไตยที่ edit ตัวเองแล้ว กลายเป็นระบอบเสรีประชาธิปไตยที่แพร่หลายไปในโลกโดยเฉพาะนับแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองถึงปัจจุบัน ซึ่งให้ผู้คนพลเมืองได้ทั้งเสรีภาพทางเศรษฐกิจและความคิดจิตใจ กับความเสมอภาคทางการเมืองและอำนาจอธิปไตยของปวงชนไปพร้อมกัน”
“ในระบอบเสรีประชาธิปไตย ปมเงื่อนของความสัมพันธ์ระหว่างเสรีนิยมกับประชาธิปไตยที่โอบเอื้อเกื้อกูลหนุนเสริมและเป็นเงื่อนไขช่วยค้ำประกันซึ่งกันและกัน เป็นดังนี้คือ:เสรีนิยมเกื้อกูลหนุนเสริมให้มีประชาธิปไตยด้วยการค้ำประกันการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม (free & fair elections) เพราะมีแต่ผ่านการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรมเท่านั้นจึงจะได้ประชาธิปไตยแบบมีผู้แทนจากการเลือกตั้งที่ชอบธรรมสมบูรณ์”
“ส่วนประชาธิปไตยก็เกื้อกูลหนุนเสริมให้มีเสรีนิยมด้วยการค้ำประกันการที่พลเมืองมีส่วนร่วมในการนิติบัญญัติ (popular participation in legislation) เพราะกฎหมายนี่แหละคือเครื่องมือที่ผู้กุมอำนาจรัฐใช้กดขี่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน การให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการออกกฎหมายย่อมค้ำประกันว่าจะไม่มีการปล่อยให้ผู้กุมอำนาจรัฐออกกฎหมายมาจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนเอง”
“ทว่าระบอบเผด็จการอำนาจนิยม (authoritarianism) และระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จ (totalitarianism) เป็นภยันตรายต่อทั้งเสรีนิยมและประชาธิปไตย กล่าวคือ ในระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จนั้น ประชาธิปไตยถูกริบรวบไปโดยอำนาจอันไร้ขีดจำกัด เพราะไม่มีการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม ในระบอบเผด็จการอำนาจนิยมนั้น เสรีนิยมถูกริบรวบไปโดยอำนาจที่ไม่พร้อมรับผิดต่อส่วนรวม เพราะประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการออกกฎหมาย”
“ฉะนั้น เมื่อเผชิญหน้ากับระบอบปกครองแบบหนึ่งแบบใดในสองแบบนี้ ซึ่งไม่มีการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม อีกทั้งประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการออกกฎหมาย เสรีนิยมกับประชาธิปไตยอันเป็นฝาแฝดที่แตกคอกัน แล้วกลับกลายมาเป็นเงื่อนไขค้ำประกันซึ่งกันและกัน ก็จำต้องกลายเป็นพันธมิตรกันแทน”