ที่สำนักงาน กกต. เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 15 มี.ค.62 นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) เดินทางมายื่นหนังสือถึง กกต. เพื่อคัดค้านการนำคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินมาประกอบการพิจารณากรณีตนเคยมายื่นร้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เข้าข่ายเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐหรือไม่
นายเรืองไกร กล่าวว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินไม่ใช่ผู้ตีความกฎหมาย จึงจะวินิจฉัยกรณีดังกล่าวไม่ได้ ต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ตีความ โดยตนมีหลักฐานคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2562 กรณีนายรังสิมันต์ โรม ขัดคำสั่ง คมช. โดยไม่ยอมพิมพ์ลายนิ้วมือที่นายรังสิมันต์ โต้แย้งว่าคำสั่งของ คมช.ขัดแย้งรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลได้วินิจฉัยว่าคำสั่งของ คมช.ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หลังจากที่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560
นายเรืองไกร ระบุว่า กรณีนี้เป็นข้อพิสูจน์ที่ผู้ตรวจการแผ่นดินอาจไม่ได้นำมาประกอบการพิจารณาในความเห็นของตน พล.อ.ประยุทธ์ มีอำนาจรัฏฐาธิปัตย์เพียงแค่ 2 เดือน คือ 22 พ.ค. 2557 ถึง 22 ก.ค. 2557 เท่านั้น เพราะมีรัฐธรรมนูญชั่วคราว มาบังคับใช้ และให้อำนาจ พล.อ.ประยุทธ์ในการใช้มาตรา 44 โดยต้องรายงานประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) และคณะรัฐมนตรี ในประเด็นนี้จะโต้แย้งคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแล
“การที่ผู้ตรวจฯนำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/43 ที่วินิจฉัยเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่ไม่สามารถลงสมัคร ส.ว.ได้มาวินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่เข้าลักษณะ 4 ประการการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามคำวินิจฉัยเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งเอามาเฉพาะบางส่วนเท่านั้น ข้อเท็จจริงได้มีการวินิจฉัยถึงบางตำแหน่งที่ยังไม่ได้มีการกำหนดเอาไว้ตามกฎหมายว่าเข้าข่ายว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เรื่องนี้ผมไม่อยากแย้งผู้ตรวจฯ เพราะผู้ตรวจฯ ไม่มีอำนาจที่จะวินิจฉัยเรื่องนี้ แต่ค้านที่ กกต.จะนำคำวินิจฉัยของผู้ตรวจฯมาวินิจฉัยประเด็นที่ผมยื่น” นายเรืองไกร กล่าว
นอกจากนี้ ก็ยังมีคำพิพากษาของศาลฎีกาในคดีที่พนักงานอัยการยื่นฟ้องนายสมบัติ บุญงามอนงค์ ที่ไม่ได้ไปรายงานตัวตามคำสั่งหัวหน้า คสช. แล้วนายสมบัติ แย้งว่าตนเองไม่ต้องไปรายงานตัว เพราะ คสช.ไม่ใช่เจ้าพนักงานของรัฐนั้น ศาลฎีกาก็วินิจฉัยว่าหัวหน้า คสช.เป็นเจ้าพนักงานของรัฐ ดังนั้นตนจึงนำคำพิพากษาของศาลมาให้ กกต.พิจารณา