หน้าแรกเศรษฐกิจ-การเงินอดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา ถก 'บิ๊กตู่' เป็น 'เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ' หรือไม่

อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา ถก ‘บิ๊กตู่’ เป็น ‘เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ’ หรือไม่

นายชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา โพสต์เฟซบุ๊ก “Chuchart Srisaeng” แสดงความคิดเห็นกรณีมีข้อถกเถียงกันว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้า คสช. เป็น “เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ” หรือไม่ ระบุว่า

…..ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยไว้เมื่อปี 2543 ตามคำวินิจที่ ๕/๒๕๔๓ เกี่ยวกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ มาตรา ๑๐๙(๑๑) ซึ่งบัญญัติว่า เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ หรือของราชการส่วนท้องถิ่น หรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ

…..ส่วนรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มาตรา ๙๘(๑๕) บัญญัติว่า เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ

…..ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคำว่า “เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ” ตามมาตรา ๑๐๙(๑๑) หมายความว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เรียกชื่ออย่างอื่น ซึ่งมีสถานะตำแหน่งหน้าที่หรือลักษณะงานทำนองเดียวกันกับพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจหรือของราชการส่วนท้องถิ่น โดยมีลักษณะดังต่อไปนี้

……..๑. ได้รับแต่งตั้งหรือเลือกตั้งตามกฎหมาย

……..๒. มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการหรือหน้าที่ปฎิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมาย หรือปฎิบัติงานประจำ

……..๓. อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของรัฐ

……..๔. มีเงินเดือน ค่าตอบแทน ค่าจ้าง ตามกฎหมาย

…..ตามคำวินิจของรัฐธรรมนูญหมายความว่า “เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ” ตามที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ มาตรา ๑๐๙(๑๑) ซึ่งมีถ้อยคำเหมือนกับที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มาตรา ๙๘(๑๕) ต้องมีองค์ประกอบ ๔ ประการดังกล่าว

…..พลเอกประยุทธในฐานะหัวหน้า คสช. มีคุณสมบัติครบตามองค์ประกอบ ๔ ประการซึ่งถือเป็น“เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ” หรือไม่

……..๑. ได้รับแต่งตั้งหรือเลือกตั้งตามกฎหมายหรือไม่ หัวหน้า คสช. ไม่ได้รับแต่งตั้งหรือได้รับการเลือกตั้งตามกฎหมายฉบับใด แต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติที่เข้ายึดอำนาจการปกครองแผ่นดินเมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ เป็นผู้แต่งตั้งขึ้น จึงไม่เข้าองค์ประกอบในข้อนี้

……..๒. มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการหรือหน้าที่ปฎิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมาย หรือปฎิบัติงานประจำหรือไม่ หัวหน้า คสช.ไม่มีหน้าที่ดำเนินการหรือหน้าที่ปฎิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมายหรือปฎิบัติงานประจำ แต่หัวหน้า คสช.มีอำนาจที่จะสั่งการใดๆ ได้ตามมาตรา ๔๔ ของรัฐธรรมแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว)พุทธศักราช ๒๕๕๗ และตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มาตรา ๒๖๕ วรรคสอง จึงไม่เข้าองค์ประกอบในข้อนี้

……..๓. อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของรัฐหรือไม่ หัวหน้า คสช.ไม่ได้อยู่ในบังคับบัญชาหรืออยู่ในกำกับดูแลของรัฐหรือของบุคคลใดเลย แต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นผู้แต่งให้เป็นหัวหน้าของคณะของตนเอง จึงไม่เข้าองค์ประกอบในข้อนี้เช่นเดียวกัน

……..๔. มีเงินเดือน ค่าตอบแทน ค่าจ้าง ตามกฎหมาย แม้หัวหน้า คสช. จะได้รับค่าตอบแทนแต่ก็ไม่ได้เป็นไปตามกฎหมายที่บัญญัติไปเป็นการทั่วไป แต่เป็นการได้รับค่าตอบแทนเพียงชั่วคราวเท่านั้น หรือแม้จะฟังว่าเข้าองค์ประกอบในข้อนี้

…..แต่เมื่อไม่เข้าองค์ประกอบในข้อ ๑ ข้อ ๒ และข้อ ๓ แล้ว พลเอกประยุทธ์ในฐานะหัวหน้า คสช. ก็ไม่เข้าข่ายเป็น”เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ”ตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๙๘(๑๕)

…..การที่พรรคพลังประชารัฐยื่นชื่อพลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคจึงสามารถกระทำได้โดยชอบตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๘๘ และมาตรา ๑๖๐

…..รัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๑๑ วรรคสี่ บัญญัติว่า คําวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ

…..คณะกรรมการการเลือกตั้งหรือ กกต. เป็นองค์อิสระตามรัฐธรรมนูญ จึงต้องผูกพันหรือยึดถือและปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว

…..เขียนในฐานะนักกฎหมายคนหนึ่งที่ยอมรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ได้หวังประจบหรือเอาใจใครเพื่อหวังตำแหน่งใดๆ เพราะทั้งชีวิตไม่เคยกระทำ !


RELATED ARTICLES

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img