หน้าแรกการเมือง'หมอเลี๊ยบ' โพสต์ระลึกถึง 'นายแพทย์สงวน' ตำนานวงการสาธารณสุขไทย

‘หมอเลี๊ยบ’ โพสต์ระลึกถึง ‘นายแพทย์สงวน’ ตำนานวงการสาธารณสุขไทย

นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรองนายกรัฐมนตรีภายใต้รัฐบาลของนายทักษิน ชินวัตร โพสต์เฟซบุ๊กกล่าวระลึกถึง นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ที่เป็นตำนานของวงการสาธารณสุขไทย ซึ่งได้เสียชีวิตไปเมื่อ 10 ปีที่เเล้ว โดยในข้อความเฟสบุ๊คกล่าวว่า วันนี้เป็นวันครบรอบ 10 ปี การเสียชีวิตของนายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ นายแพทย์หนุ่มใหญ่ที่เป็นตำนานของวงการสาธารณสุขไทย ชื่อของนายแพทย์สงวน ซึ่งผมมักเรียกอย่างคุ้นเคยว่า “พี่หงวน” ถูกเอ่ยขานทุกครั้งเมื่อใครก็ตามพูดคุยเรื่องราวเกี่ยวกับนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ “30 บาทรักษาทุกโรค” ที่จริง พี่หงวนมีผลงานอีกมากมายที่ผมนึกถึง ตลอดช่วงเวลาเกือบ 34 ปีที่ได้นับถือเป็นพี่น้องกัน

นายแพทย์สุรพงษ์กล่าวต่อว่าได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยมหิดลเมื่อ พ.ศ.2517 ตอนนั้นพี่หงวนเป็นนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 4 เราเรียกกันว่า ชั้น “ปรีคลินิก” แต่เขายังเรียนในชั้นเรียนที่คณะวิทยาศาสตร์ และบางเวลาก็ข้ามไปเรียนที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งอยู่ติดกัน พี่หงวนเป็นนักกิจกรรมนักศึกษาตัวยง ที่ชอบคิด ชอบเขียนทั้งร้อยแก้วร้อยกรอง ผมเคยอ่านบทกวีที่น่าทึ่งของผู้ใช้นามปากกาว่า “พงศา อารัมภ์” จนอยากรู้จักตัวเป็นๆว่าเขาเป็นคนอย่างไร ซึ่งก็ไม่ผิดหวัง พี่หงวนยังเป็นบรรณาธิการหนังสือมหิดลสาร ประธานชมรมรัฐศึกษา นายกสโมสรนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ และเป็นนายกองค์การบริหาร สหพันธ์นักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล ช่วงเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ตึกสันทนาการของคณะวิทยาศาสตร์ คือศูนย์รวมกิจกรรมของนักศึกษามหิดลในขณะนั้น เราทั้งทำกิจกรรมในเวลาบ่ายและเย็น กวนกาวเพื่อติดโปสเตอร์ในเวลาค่ำ บางครั้งประชุมกันถึงดึกดื่น พี่หงวนมักเดินข้ามไปมาระหว่างคณะฯ สลับไปมาระหว่างการประชุมเรื่องกิจกรรมนักศึกษากับการขึ้นตึกผู้ป่วยอยู่เสมอ

นายแพทย์สุรพงษ์กล่าวต่อว่าหลังปี 2519 พี่หงวนไปทำงานที่โรงพยาบาลราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ สร้างกิจกรรมสาธารณสุขชุมชนที่เลื่องลือจนโรงพยาบาลราษีไศลกลายเป็น “ตักกศิลา”ของนักศึกษาในยุคนั้น ที่มีความใฝ่ฝันในการดูแลผู้ยากไร้ในชนบท ทุกช่วงปิดเทอมมีนักศึกษาแพทย์ นักศึกษาพยาบาล และนักศึกษาสายสาธารณสุขอื่นๆ ไปขอฝึกงานกันคลาคล่ำอต่อมา พี่หงวนย้ายกลับเข้ามาทำงานในกระทรวงสาธารณสุข และกลายเป็นนักคิดคนสำคัญที่ผลักดันงานวิจัยมากมายซึ่งนำไปสู่การปฏิรูประบบสาธารณสุขสำคัญๆในช่วงทศวรรษ 2530-2540 แล้วสะสมองค์ความรู้เหล่านั้นจนนำไปสู่การผลักดันนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสำเร็จได้ใน พ.ศ.2544

นายแพทย์สุรพงษ์กล่าวอีกว่าน่าเสียดายที่พี่หงวนอายุสั้น จากโลกนี้ไปด้วยอายุเพียง 55 ปี ผมยังจำภาพวันที่เพื่อนพ้องน้องพี่ไปเยี่ยมพี่หงวนที่โรงพยาบาลรามาธิบดีก่อนเสียชีวิตไม่นาน เราร้องเพลง “แสงดาวแห่งศรัทธา” ที่เรารู้ว่าพี่หงวนชอบและฝังใจ เสียงเพลงวันนั้นกะท่อนกะแท่น บางคนร้องไม่จบ เพราะทนกลั้นน้ำตาไม่อยู่ ผมมาทบทวนดูว่า ทำไมพี่หงวนทำงานออกมาได้มากมายในช่วงชีวิตของเขา ทำไมเมื่อน้องๆต้องการคำปรึกษา จะนึกถึงพี่หงวนเป็นคนแรกๆ
ทำไมทุกคน ทุกฝ่าย (และทุกสี) ถึงพร้อมร่วมทำงานกับพี่หงวน สำหรับคนอื่น ผมไม่ทราบ แต่สำหรับผมและเพื่อนอีกหลายคน เราตอบตัวเองได้ว่า
เพราะพี่หงวน คนที่เรารู้จัก เขามี “แรงปรารถนา” อยากให้โลกนี้ดีขึ้น เขารู้จริงในสิ่งที่เขาทำ เขาอ่อนน้อมถ่อมตน จริงใจ ซื่อสัตย์ ไม่มีเล่ห์เหลี่ยม เขาไม่เคยนินทาว่าร้ายใคร ไม่เคยแทงหลังใคร เขาให้เกียรติและให้เครดิตเพื่อนร่วมงาน รวมทั้งส่งเสริมคนรุ่นใหม่ให้กล้าคิด กล้าทำและเรารู้ว่า เมื่อเราพบความยากลำบากในการทำสิ่งที่ถูกต้อง เขาพร้อมยืนเคียงข้างเราเสมอ

นายแพทย์สุรพงษ์กล่าวทิ้งท้ายว่าคนหนึ่งคน แม้เขาจากไปแล้ว 10 ปี ยังมีคนรุ่นหลังระลึกถึง หวังว่า เราไม่ระลึกถึงเพียงว่า “เขาทำอะไร” แต่เรียนรู้ด้วยว่า “เขาทำอย่างไร” เพื่อเราจะทำภารกิจที่รอเราอยู่ข้างหน้าได้ดีขึ้นกว่า 40 ปีก่อน เมื่อมีเพื่อนนักศึกษาที่ร่วมทำกิจกรรมเสียชีวิต นักกิจกรรมที่ตึกสันทนาการมักอ่านข้อความบทหนึ่งเพื่อเติมพลังใจให้แก่กัน เป็นข้อความจากหนังสือ “เบ้าหลอมวีรชน” ของนิโคไล ออสต๊อฟสกี้ แปลโดย เทอด ประชาธรรม ซึ่งพี่หงวนได้ใช้พลังใจนั้นมาตลอดชีวิตของเขา

“สิ่งที่มนุษย์เราหวงแหนที่สุดก็คือชีวิต
และก็เป็นสิ่งที่ให้แก่เขาเพื่อดำรงอยู่ได้แต่เพียงครั้งเดียว
เขาจักต้องดำรงชีวิตอยู่เพื่อที่ว่าจะไม่ต้องทรมานใจด้วยความโทมนัสว่า
วันเดือนปีที่ผ่านไปนั้นปราศจากจุดหมาย…
ชีวิตเช่นนี้เมื่อตายลงก็สามารถพูดได้ว่าชีวิตของฉัน
และพลังกายพลังใจทั้งหมดของฉัน
ได้อุทิศให้แก่อุดมการณ์ที่ดีงามที่สุดแล้วในโลกนี้
นั่นคือ การต่อสู้เพื่อกอบกู้อิสรภาพของมนุษย์..”

 

Surapong Thai Rak Thai


 

RELATED ARTICLES

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img