น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกสภาปฎิรูปแห่งชาติ (สปท.) และอดีตสมาชิกวุฒิสภา กทม. ได้กล่าวถึงประเด็นเรื่องปมนาฬึกาของ พล.อ ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมว่า คนที่ได้ฟังคำชี้แจงหรือแก้ตัวนี้ล้วนไม่มีใครเชื่อ ยิ่งบอกว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไม่มีใครแทรกแซงได้ สังคมยิ่งมีข้อกังขา ดังที่รู้ๆกันใช่หรือไม่ เมื่อนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชาให้สัมภาษณ์ว่า “ปัญหาเรื่องนาฬิกาต่างๆ ที่นักการเมืองออกมาพูด ขอให้กลไกได้ดำเนินการตรวจสอบเพื่อให้เกิดความชัดเจน ขอร้องว่าช่วงนี้อย่าใช้วาทกรรมเหล่านี้มาสร้างเวทีทางการเมือง และ พล.อ.ประวิตรก็พร้อมที่จะตอบเรื่องเหล่านี้ด้วย” แต่กลไกที่ท่านนายกฯกล่าวถึง ไม่สามารถทำงานได้ ถ้าการทุจริตเกิดขึ้นในระดับสูง จึงต้องใช้กลไกทางบริหารด้วย ดังเหตุผลที่ท่านนายกฯเคยใช้มาตรา 44ในการโยกย้ายและ ยุติการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการ และข้าราชการท้องถิ่น 71 คนว่า “ยังไม่ถือว่าทั้งหมดมีความผิด เป็นการรวบรวมรายชื่อที่มีการร้องเรียนอยู่ในกระบวนการตรวจสอบทั้งหมด ถ้าเรื่องไหนที่สำคัญมากๆ หรือเป็นปัญหาใหญ่ก็จำเป็นต้องรื้อตำแหน่งระดับสูงให้ขยับออกมาก่อน เพื่อให้เกิดการสอบสวน หาพยานหลักฐานในเชิงประจักษ์ให้ได้ แต่ถ้าไม่ผิดก็กลับมาที่เดิม”
น.ส.รสนายกตัวอย่างเช่นการใช้มาตรา 44 ปลดผู้ว่า กทม.ออกจากตำแหน่ง และตั้งคนที่รัฐบาลคสช.ต้องการ ก่อนที่จะมีการแจ้งข้อกล่าวหา หรือดำเนินการตามกลไกกฎหมาย หรือการโยกย้ายข้าราชการทั้งส่วนกลางและท้องถิ่นออกจากตำแหน่งไปหลายร้อยคน ไม่มีข้อมูลรายงานผลการสอบสวนใดๆว่าแต่ละกรณีทุจริตหรือไม่อย่างไร หลายคนถูกให้ออกจากตำแหน่งไปโดยไม่มีการสอบสวนความผิดจนเกษียณอายุราชการไปยกตัวอย่างเลขาธิการสปสช.นายกฯให้พ้นตำแหน่งจนเกษียณอายุราชการ แต่ไม่มีการเรียกสอบสวนเลย ปิดคดีไปดื้อๆ หรือกรรมการกองทุน สสส.หลายคนที่ถูกให้ออกตามมาตรา44 และต่อมาสอบแล้วไม่พบว่ามีเรื่องทุจริต
น.ส.รสนากล่าวต่อด้วยว่าเมื่อท่านนายกฯ เคยกล่าวว่า “ถ้าเรื่องไหนที่สำคัญมากๆ หรือเป็นปัญหาใหญ่ก็จำเป็นต้องรื้อตำแหน่งระดับสูงให้ขยับออกมาก่อน เพื่อให้เกิดการสอบสวน หาพยานหลักฐานในเชิงประจักษ์ให้ได้ แต่ถ้าไม่ผิดก็กลับมาที่เดิม” ดังนั้น มาตรฐานเดียวกันนี้ จึงควรนำมาใช้กับกรณีของพล.อ ประวิตร เพื่อสอบให้ได้ข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ เหมือนกับที่ท่านเคยทำกับคนอื่นๆมาแล้ว การที่ประชาชนตรวจสอบก็เพื่อให้กลไกของภาคตัวแทนทั้งภาคการเมือง ภาคราชการและองค์กรอิสระต่างๆที่มีหน้าที่ให้ทำงานด้วยความบริสุทธ์ ยุติธรรมอย่างมีประสิทธิภาพ
น.ส.รสนากล่าวทิ้งท้ายว่า “สิ่งที่ประชาชนออกมาวิพากษ์วิจารณ์ไม่ใช่วาทกรรม ถ้าเรื่องนี้จะเป็นวาทกรรม ก็ขอให้ท่านนายกฯนึกถึงวาทกรรมของคนโบราณที่ว่า ช้างตายทั้งตัว อย่าเอาใบบัวปิด เพราะทุกคนย่อมเป็นไปตามกฎแห่งกรรม ใครทำกรรมใดไว้ย่อมได้รับผลแห่งกรรมนั้น ไม่อาจจะหนีพ้นได้ ไม่ว่าจะใหญ่โตแค่ไหนและเรื่องนาฬิกานี้ก็จะเป็นบทพิสูจน์ว่าทั้งคนและกลไกภาครัฐในการปราบโกงจะเป็นกลไกที่ได้รับความเชื่อถือ หรือจะเป็นเพียงปาหี่ให้มหาชนโห่เท่านั้น !!?”