หน้าแรกการเมืองน่าคิด! 'ศรีสุวรรณ' ขอผู้ตรวจการฯสกัดอำนาจ ‘โลโก้-ชื่อพรรค’บัตรเลือกตั้ง

น่าคิด! ‘ศรีสุวรรณ’ ขอผู้ตรวจการฯสกัดอำนาจ ‘โลโก้-ชื่อพรรค’บัตรเลือกตั้ง

นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย  ได้โพสต์เฟซบุ๊ก เรื่อง “ขอให้ใช้อำนาจตามมาตรา ๒๓๐(๑) และมาตรา ๒๓๑(๒) ของรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ ประกอบ พรป.ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน ๒๕๖๐ มาตรา ๒๒(๑) และมาตรา ๒๓(๒) เพื่อเสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลปกครองเพื่อวินิจฉัยว่า การที่ กกต.จะกำหนดบัตรเลือกตั้งโดยไม่มีโลโก้และชื่อของพรรคการเมืองนั้นมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายหรือไม่ และการที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เสนอให้ กกต.จัดทำบัตรเลือกตั้งมีแค่หมายเลขและช่องกาบัตรเท่านั้น ถือเป็นการแทรกแซงการทำงานของ กกต.หรือองค์กรอิสระหรือไม่”

เรียน ท่านผู้ตรวจการแผ่นดิน

ตามที่ปรากฏในสื่อสารมวลชนเป็นการทั่วไปว่า ในการประชุมแม่น้ำ ๕ สายที่นำโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. กับพรรคการเมืองเมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๖๑ ณ สโมสรกองทัพบกที่ผ่านมานั้น โดยมีการเปิดเผยว่าในที่ประชุม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เสนอในที่ประชุมให้บัตรเลือกตั้งที่จะใช้ในการเลือกตั้งเป็นการทั่วไปในวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ นี้มีแค่หมายเลขและช่องกาบัตรเท่านั้น โดยไม่มีโลโก้ของพรรคการเมืองและชื่อพรรคการเมืองปรากฏอยู่เลย (เอกสารแนบ ๑)

ซึ่งกรณีดังกล่าว นายณัฏฐ์ เล่าสีห์สวกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนว่า บัตรเลือกตั้งที่ไม่มีโลโก้ของพรรคการเมือง และชื่อพรรคว่า ในการประชุมจัดทำแผน ขั้นตอนการดำเนินการทางการเมืองและแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อพรรคการเมือง เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งมีพรรคการเมือง ๒ พรรค ถามถึงเรื่องบัตรเลือกตั้ง โดยตนเองได้ชี้แจงว่าเดิมทีคิดว่าจะมีการใส่ชื่อและโลโก้พรรคในบัตรเลือกตั้ง แต่หลังจากมีการประชุมร่วมกับหน่วยงานต่างๆ แล้ว พบว่าการใส่ชื่อและโลโก้พรรคในบัตรเลือกตั้ง อาจจะทำให้เกิดปัญหาสำหรับการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรได้ โดย กกต.กังวลเรื่องการขนส่งบัตร หากเกิดปัญหาผู้ที่ลงทะเบียนไม่ได้รับบัตรเลือกตั้ง กกต.จะไม่สามารถจัดส่งบัตรเลือกตั้งสำรองให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งนอกราชอาณาจักรได้ เพราะจะต้องส่งบัตรเลือกตั้งของเขตที่ผู้ลงทะเบียนมีสิทธิ์ ดังนั้นบัตรเลือกตั้งจึงจะเหลือแค่หมายเลข และช่องกาบัตรเท่านั้น (เอกสารแนบ ๒)

การดำเนินการตามข้อเสนอดังกล่าวของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องสังกัดพรรคการเมือง และประชาชนสามารถใช้สิทธิเลือกตั้งได้โดยสะดวก เพราะถ้าไม่มีสัญลักษณ์พรรค หรือสิ่งยืนยันว่าเป็นผู้สมัครของพรรคการเมือง จะทำให้ประชาชนสับสนในการใช้สิทธิ ผิดพลาด และอาจนำไปสู่การโกงหรือทุจริตการเลือกตั้งได้ง่ายขึ้น ซึ่งการเลือกตั้งโดยทั่วไปในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก เช่น สหรัฐอเมริกา อินโดนีเชีย อินเดีย เมียนม่า กัมพูชา อังกฤษ ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส นิวซีแลนด์ ฯลฯ ซึ่งบัตรเลือกตั้งมักจะมีโลโก้และชื่อพรรค เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ดูข้อมูลผู้สมัครและพรรคการเมืองก่อนใช้สิทธิในขั้นสุดท้ายในคูหาเลือกตั้ง

ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งนี้ ผู้สมัครจากพรรคเดียวกันในแต่ละเขตจะได้เบอร์ที่แตกต่างกันไป จึงอาจมีความสับสน ยิ่งถ้าไปตัดโลโก้และชื่อพรรคออกด้วย ยิ่งเพิ่มปัญหาในการจดจำและพิจารณาของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นการเลือกตั้งครั้งนี้ประชาชนจะสามารถกาบัตรได้เพียงใบเดียว ทุกคะแนนจะต้องนำมาคิดเพื่อเลือกทั้งสส. เขต และส.ส.บัญชีรายชื่อ จึงจำเป็นที่จะต้องมีชื่อพรรคและโลโก้พรรคด้วยเพื่อให้ประชาชนเลือกพรรค

บัตรเลือกตั้งที่ดี ต้องทำให้ประชาชนมีความสะดวก และเลือกคนหรือพรรคตรงกับใจตนเอง การตัดชื่อพรรคและโลโก้จะทำให้เกิดความยุ่งยาก สับสนโดยไม่จำเป็น และจะทำให้เกิดบัตรเสียเลือกผิดเลือกถูกเป็นจำนวนมาก การมีชื่อและโลโก้ของพรรค จะทำให้ทุกพรรคมีความเท่าเทียม ไม่ได้เปรียบเสียเปรียบกัน ผู้เลือกตั้งกาบัตรได้ชัดเจนตามพรรคที่ชอบและ คนที่ใช่ ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ ที่สำคัญ “หน้าที่ของบัตรเลือกตั้ง” นอกจากจะเป็นเครื่องมือที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะได้ใช้ลงคะแนนเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งที่จะเป็นตัวแทนของตนไปทำหน้าที่ทางนิติบัญญัติและบริหารแล้ว บัตรเลือกตั้งยังเป็นเครื่องมือที่จะใช้เพื่อการสื่อสารประการสุดท้ายที่จะทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งใช้ตัดสินใจอย่างไม่ผิดพลาดในการกากบาทในคูหาเลือกตั้งเป็นครั้งสุดท้ายด้วย

ส่วนเหตุผลที่ กกต. ได้แถลงต่อสาธารณะว่าที่ต้องตัดโลโก้ออกเนื่องจากมีปัญหาในการขนส่งบัตรนั้น ไม่มีน้ำหนักที่เพียงพอที่จะเชื่อได้ว่า จะเป็นการทำให้การเลือกตั้งสุจริตและเที่ยงธรรม การให้ความสำคัญต่อการสะดวกในการพิมพ์และขนส่งบัตร โดยเอาเรื่องธุรการมาก่อนหลักการนั้น เป็นสิ่งที่สาธารณชนไม่อาจยอมรับการกระทำของ กกต. ได้ ที่สำคัญการดำเนินการใด ๆ ในเรื่องดังกล่าว กกต. จะต้องเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสีย ประชาชน ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง หรือพรรคการเมือง ได้มีโอกาสในการแสดงความเห็น

โดย กกต. ต้องรับฟังจากทุกฝ่ายแล้วนำไปประเมินให้ถ้วนถี่ให้ดี ก่อนที่จะตัดสินใจในขั้นสุดท้าย มิใช่ฟังเพียงแต่เสียงของผู้มีอำนาจเพียงคนเดียวก็นำไปสู่การตัดสินใจเลยนั้น หาชอบด้วยกฎหมายไม่ โดยเฉพาะการที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เสนอในที่ประชุมให้บัตรเลือกตั้งที่จะใช้ในการเลือกตั้งเป็นการทั่วไปในวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ นี้มีแค่หมายเลขและช่องกาบัตรเท่านั้น โดยไม่มีโลโก้ของพรรคการเมืองและชื่อพรรคการเมืองปรากฏอยู่เลย แล้ว กกต. ก็รับลูกออกแถลงการณ์ดำเนินการตามข้อเสนอดังกล่าวเลยนั้น เป็นกรณีที่ผิดสังเกตเป็นอย่างยิ่ง หากปล่อยกรณีนี้เป็นจริง แสดงให้เห็นว่า กกต. อาจไม่เป็นกลางทางการเมือง ปล่อยให้บุคคลอื่น/หน่วยงานอื่นแทรกแซง อาจจะส่งผลให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างไม่เสมอภาค ไม่สุจริตและเที่ยงธรรม เหตุเพราะมีการเลือกปฏิบัติอันขัดต่อรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ โดยตรง

สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ในฐานะองค์กรนิติบุคคลที่มีวัตถุประสงค์ในการติดตาม ตรวจสอบการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม จึงไม่อาจปล่อยให้ผู้มีอำนาจใช้เล่ห์ฉลทางการเมืองมากำหนดกลไกการเลือกตั้งที่บิดเบี้ยวไม่เป็นไปตามประเพณีปฏิบัติและวิถีแห่งกฎหมายได้ จึงใคร่นำความมาร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อให้ใช้อำนาจตามมาตรา ๒๓๐(๑) และมาตรา ๒๓๑(๒) ของรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ ประกอบ พรป.ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน ๒๕๖๐ มาตรา ๒๒(๑) และมาตรา ๒๓(๒) เพื่อดำเนินการ ดังนี้ …

๑) เสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองเพื่อวินิจฉัยว่า การที่ กกต.จะกำหนดบัตรเลือกตั้งโดยไม่มีโลโก้และชื่อของพรรคการเมืองนั้นมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายหรือไม่

๒)การที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เสนอให้ กกต.จัดทำบัตรเลือกตั้งมีแค่หมายเลขและช่องกาบัตรเท่านั้น ถือเป็นการแทรกแซงการทำงานของ กกต.หรือองค์กรอิสระหรือไม่ด้วย

โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้มีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.๒๕๖๑ แล้ว เพื่อให้การจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ๒๕๖๐ ดังนั้นการกำหนดบัตรเลือกตั้ง เพื่อให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ใช้เป็นเครื่องมือในการใช้สิทธิของตนอย่างครบถ้วนสมบูรณ์จึงเป็นเจตนารมณ์ที่สำคัญที่ กกต. ต้องพึงปฏิบัติโดยชัดแจง และเมื่อกลไกดังกล่าวไม่อาจสะท้อนให้เกิดการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมได้ จึงเป็นอำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินที่จะต้องใช้อำนาจตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ๒๕๖๐ ประกอบพรป.ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน ๒๕๖๐ บัญญัติ ในการหาข้อยุติที่เป็นธรรมตามคำร้องนี้ต่อไปโดยพลันด้วย

ท้ายนี้หากท่านได้ดำเนินการเป็นประการใด และมีผลเป็นอย่างใด ๆ แล้วกรุณาแจ้งให้สมาคมฯและสาธารณชนได้ทราบด้วย ทั้งนี้ตามมาตรา ๔๑ มาตรา ๕๑ มาตรา ๕๙ มาตรา ๖๓ และมาตรา ๗๘ แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๖๐ ประกอบพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.๒๕๔๐ และพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ.๒๕๔๖ ด้วย จักขอบพระคุณยิ่ง

นายศรีสุวรรณ จรรยา


 

RELATED ARTICLES

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img