ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรบรรยายภายใต้เรื่อง ‘เศรษฐกิจ 4 ปีของรัฐบาล คสช. รอดหรือร่วง?’ ว่าเป็นเป็นที่น่าเสียดายว่า ระบบการเมืองในประเทศไทยไม่สามารถบริหารความขัดแย้งได้เอง จึงเป็นจุดอ่อนที่เปิดให้ ขุนศึก เข้ามามีบทบาท และเป็นวงจรที่เกิดขึ้นซ้ำซาก ซึ่งในยุคของประเทศไทย 4.0 จะขอเรียกวงจรนี้เพื่อเข้าใจง่ายๆ ว่าเป็น “กับดักการเมือง 0.4” ภายในกับดักนี้ ขุนศึก มักจะหาทางสืบทอดอำนาจภายหลังจากการปฏิวัติ แต่สำหรับครั้งนี้ หากมีแผนการสืบทอดอำนาจ ก็ต้องยอมรับว่าทำอย่างครบวงจร
นายธีระชัยกล่าวต่อว่าในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ ผมขอจะไม่วิจารณ์เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ กติกาการเลือกตั้ง กติกาเกี่ยวกับพรรคการเมือง ฯลฯ แต่ขอบอกว่า อาวุธลับที่ทรงพลังมากกว่ากติกาทางกฎหมาย ก็คือมาตรการเศรษฐกิจ ซึ่งมี 2 ปัจจัย คือ ปัจจัยที่หนึ่ง คสช. มีการประกาศตัว นายทุน ซึ่งประกอบด้วยนักธุรกิจระดับชาติ นายแบงค์ชั้นนำ และโบรกเกอร์รายใหญ่ เข้ามาร่วมในการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจอย่างเปิดเผย ดังนั้น เมื่อมีการจับมือกันอย่างแนบแน่น ระหว่าง นายทุน กับ ขุนศึก แล้วเช่นนี้ ในเชิงทฤษฎี เงินจาก นายทุน เพื่อจะสนับสนุนการเมืองของ ขุนศึก ย่อมจะเกิดขึ้นได้ไม่ยาก ปัจจัยที่สอง มีการสร้างฐานเสียงขนาดใหญ่ ในโครงการบัตรคนจน ซึ่งถึงแม้สภาพัฒน์ฯ เคยวิเคราะห์จำนวนคนจนในไทยมีอยู่เพียง 4-5 ล้านคน แต่กลับออกบัตรไปมากกว่า 11 ล้านใบ โดยมีการแจกเงินประจำเดือน ที่ปรับสูงขึ้นๆ และยังเปิดให้ชิงโชครางวัลจับฉลากเดือนละ 1 ล้านบาทอีกด้วย รวมทั้งมีข่าวแผนการที่จะแจกซิมโทรศัพท์มือถือให้แก่คนจน ซึ่งบังเอิญถูกวิจารณ์มาก จึงเก็บไว้ก่อน ถ้ามีแผนทางการเมืองของ คสช. ก็จะเข้าลักษณะ ลับ-ลวง-พราง อย่างมาก เพราะท่านนายกฯ พลเอกประยุทธ์ได้เคยประกาศไว้ถึง 9 ครั้งว่า ตนเองไม่ใช่นักการเมือง แต่เริ่มแย้มประตูเปิดออกในเดือนพฤศจิกายน 2560 โดยตั้งคำถาม 6 ข้อ ที่ส่อเค้าเป็นการเรียกให้ประชาชนสนับสนุนการตั้งพรรคใหม่ และในที่สุดเมื่อต้นเดือนมกราคมนี้ ก็ได้ประกาศแล้วว่าตนเองเป็นนักการเมือง ดังนั้น จึงมีนักวิเคราะห์หลายรายที่ฟันธงว่า ได้มีการวางแผนสืบทอดอำนาจมาตั้งแต่วันที่ทำการปฏิวัติ
นายธีระชัยกล่าวต่อว่ามีเหตุผลใดที่ คสช. ต้องสืบทอดอำนาจ โดยอธิบายว่า ห้วงเวลาของการปกครองในระบบปฏิวัตินั้น ปกติจะมีอันตราย 3 อย่าง หนึ่ง กลุ่มผลประโยชน์ ซึ่งก็คือกลุ่ม นายทุน ที่เดิมเกาะอยู่กับนักการเมือง จะข้ามห้วยมาเกาะกับ ขุนศึก และจะเห็นโอกาสสำคัญที่จะหาทางกินรวบประเทศไทย สอง การกินรวบประเทศไทย จะสามารถทำได้อย่างแนบเนียน เพราะไม่มีฝ่ายค้านตรวจสอบในรัฐสภา สาม นโยบายหลักของประเทศในห้วงเวลานี้ จะเปลี่ยนจากพรรคการเมือง เป็นกำหนดโดยข้าราชการ หรือ ขุนนาง ซึ่งมักจะยินดีที่จะเป็นมือเป็นไม้ให้แก่ นายทุน อยู่แล้ว นายทุน จึงย่อมจะมองเห็นช่องทางว่าสามารถจะใช้มือ ขุนนาง เพื่อวางกติกาที่เอื้ออำนวยแก่การกินรวบประเทศไทยต่อไปได้ยาวนาน แม้จะพ้นระบบปฎิวัติไปแล้ว
นายธีระชัยกล่าวถึงกรณีที่รัฐบาล คสช. ที่ได้ยืดเวลาบริหารประเทศมานานจนเข้าปีที่สี่นั้น ความเสี่ยงเกี่ยวกับการกินรวบประเทศไทยอาจประเมิณได้ว่า ทวีความรุนแรงมากขึ้น ดังเห็นได้จากมาตรการต่อไปนี้ หนึ่ง มีมาตรการเศรษฐกิจที่มีผลเอื้อประโยชน์แก่นายทุนหลายมาตรการ มาตรการเศรษฐกิจหลายอย่างของรัฐบาล คสช. ที่เอื้อประโยชน์แก่นายทุน เช่น (ก) การใช้บัตรคนจน ที่บังคับต้องใช้ผ่านร้านค้าเฉพาะ อันทำให้บริษัทใหญ่ได้เปรียบ (ข) โครงการช้อปช่วยชาติ ที่ทำให้ร้านค้าใหญ่ๆ ได้ประโยชน์ (ค) โครงการประชารัฐ ที่เชื้อเชิญให้นายทุนระดับชาติเป็นผู้ขับเคลื่อน และเป็นเจ้าของบริษัทประชารัฐ (ง) โครงการอีอีซี ที่ดันให้ราคาที่ดินภาคตะวันออกสูงขึ้น สร้างประโยชน์แก่เจ้าของที่ดินรายใหญ่และนิคมอุตสาหกรรม (จ) การยกเว้นภาษีโอนที่ดินส่วนตัวเข้าในชื่อของบริษัท ทำให้นายทุนระดับชาติสามารถกระจายที่ดินออกจากชื่อของตนเองได้โดยไม่ต้องเสียภาษี และแนวคิดที่จะแก้ไขกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช ที่จะทำให้เกษตรกรรายย่อยเสียเปรียบบริษัทยักษ์ใหญ่ แต่โชคดีที่การต่อต้านทำให้ระงับไป เป็นต้น โอกาสที่พ่อค้าขนาดกลางขนาดเล็กจะแข่งขันกับนายทุนระดับชาตินั้น อ่อนด้อยอยู่แล้ว แต่มาตรการเศรษฐกิจของรัฐบาล คสช. ยิ่งทำให้นายทุนระดับชาติหนีห่างออกไปอีก สอง มีกฎหมายและกติกาที่มีผลเอื้อประโยชน์แก่นายทุน มีการตรากฎหมายที่น่าสงสัยหลายฉบับ เช่น กฎหมายปิโตรเลียมที่ไม่จัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ ไม่บังคับให้มีการประมูลโปร่งใส ประกาศเกี่ยวกับปิโตรเลียมที่ตั้งเงื่อนไขที่เป็นไปไม่ได้ กฎหมายซูเปอร์โฮลดิ้งและรวมไปถึงการแก้ไขกฎหมายงบประมาณและกฎหมายวินัยการเงินการคลัง ที่เปลี่ยนนิยามคำว่ารัฐวิสาหกิจ โดยยกเว้นบริษัทลูก รวมไปถึงโครงการลดบทบาทของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ที่จะเปิดช่องให้ธุรกิจเอกชนเข้ามาลงทุนแทน ทั้งสองกรณีมีผลเป็นการเปิดช่องให้มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจได้ทางอ้อม เป็นต้น สาม มีการส่งไม้ต่อไปในอนาคต สำหรับกรอบการทำงานที่เอื้อประโยชน์แก่ นายทุน นั้น มิได้จำกัดอยู่แต่เพียงวันนี้ แต่ ขุนศึก ได้กำหนดโครงการให้ นายทุน จับมือกับ ขุนนาง เพื่อทำแผนยุทธศาสตร์ชาติ สลักลงไปในแท่นศิลาจารึก จะตีกรอบไปข้างหน้าอีก 20 ปีอีกด้วย ดังนั้น เหตุผลหนึ่งของการสืบทอดอำนาจ จึงอาจจะเป็นเพื่อต้องการจะล๊อค ป้องกันมิให้มีการเปลี่ยนแปลงแผนยุทธศาสตร์ จริงหรือไม่ แต่การวางแผนสืบทอดอำนาจอย่างนี้ มีข้อเสียครับ ไม่ใช่เฉพาะด้านธรรมาภิบาล แต่ยังมีข้อเสียในด้านชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนอีกด้วย เพราะการเลือกถนนการเมืองตามสไตล์เดิมๆ นั้น นอกจากจำเป็นจะต้องสร้างฐานเสียง ด้วยโครงการประชานิยมต่างๆ แล้ว มักจะต้องมีการหาเงินเพื่อตั้งพรรค เพื่อกว้านตัว ส.ส. รวมไปถึงการเดินหมากเพื่อเอาเปรียบพรรคการเมืองอื่นอีกด้วย แต่การเมืองแบบนี้ไม่ได้ก่อประโยชน์แก่ประชาชนทั่วไป อันที่จริงแล้ว การเมืองไทยกำลังถึงจุดเปลี่ยนแปลง โดยพลังมวลชนเริ่มจะขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ ผ่านระบบโซเชียลมีเดียมากขึ้น ดังนั้น แทนที่จะเลือกถนนการเมืองตามสไตล์เดิมๆ ท่านนายกฯ ควรจะได้เลือกแนวใหม่ ที่ทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นจาก “กับดักการเมือง 0.4” ได้อย่างแท้จริงแทน ซึ่งถ้าทำอย่างนี้สำเร็จ ประชาชนก็จะเลือกท่านกลับมาเอง โดยไม่ต้องตั้งพรรคแต่อย่างใด การจะทำเช่นนั้นได้ ท่านนายกฯ จะต้องเปิดโลกทัศน์การเมืองให้แก่ประชาชน ให้ประชาชนสามารถมองเห็นอนาคตที่ดีของประเทศชาติ
นายธีระชัยกล่าวสรุปว่าโดยในจะขอเน้นเพียงแค่ 4 เรื่อง เรื่องที่หนึ่ง ตลอด 4 ปีนี้ รัฐบาล คสช. ได้เน้นขับเคลื่อนแต่เฉพาะเศรษฐกิจระดับบน และเน้นประโยชน์แก่ธุรกิจขนาดยักษ์ใหญ่ แต่ถ้าหากไม่ได้ทำอย่างนั้น ถ้าหากได้ใช้มาตรการที่กระจายรายได้และประโยชน์อย่างกว้างขวางแทน ก็จะกลับทำให้ประชาชนตระหนักว่า เขาเป็นผู้ตั้งโจทย์ให้แก่รัฐบาลได้ เขาสามารถเรียกร้องให้มีการกระจายรายได้ ให้กระจายความมั่งคั่ง ดีกว่าที่เคยเป็นมา โดยไม่ต้องนั่งรอนโยบายประชานิยมที่แต่ละรัฐบาลจะนำมาเสนอ เรื่องที่สอง ตลอด 4 ปีนี้ รัฐบาล คสช. ได้หมกมุ่นกับการสร้างฐานเสียงบัตรคนจน 11 ล้านคน และยังประกาศว่า ต่อไปจะเพิ่มมาตรการอบรม จะชักจูงให้คนจนเปลี่ยนสาขาอาชีพ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าหากมิได้เน้นผลทางการเมือง ถ้าหากได้ใช้วิธีเข้าไปดูปัญหาเฉพาะของแต่ละชุมชนอย่างจริงจัง ถ้าหากได้ใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียง/ศาสตร์ของพระราชาอย่างแท้จริง สนับสนุนเงินลงไปแต่ละชุมชนเพื่อปรับปรุงวิถีชีวิต ทำให้ชุมชนพึ่งตนเอง ช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่าย ประชาชนก็จะรู้ว่า การการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงที่แท้จริงนั้น เป็นอย่างไร และจะเรียกร้องเอาจากรัฐบาลได้ตรงประเด็น เรื่องที่สาม ตลอด 4 ปีนี้ รัฐบาล คสช. ได้สนับสนุนโครงการเพื่อนายทุน แต่เมื่อมีการคัดค้านเช่นกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหิน เจ้าหน้าที่ก็ได้ลงไม้ลงมือกับผู้คัดค้านอย่างเป็นผู้ร้าย แต่ถ้าหากได้ใช้วิธีเปิดรับฟังชาวบ้านอย่างเต็มที่ เชิญประชาชนให้ความเห็นเพื่อนโยบายของประเทศอย่างจริงจัง รับฟังปัญหาอย่างรอบคอบ ประชาชนก็จะเข้าใจได้ว่า เขาสามารถเรียกร้องให้รัฐบาลต้องรับฟังปัญหาและความคิดของชาวบ้านได้ เรื่องที่สี่ ตลอด 4 ปีนี้ รัฐบาล คสช. ได้เพิกเฉยต่อหลักนิติรัฐ โดยมีการออกกฎหมายในลำดับชั้นลูกมายกเว้นรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายในลำดับชั้นแม่เพื่อต่ออายุกรรมการ ป.ป.ช. ไม่เคารพต่อมติคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินในเรื่องท่อก๊าซธรรมชาติ ไม่นำพาต่อคำวินิจฉัยอันเป็นที่สุดของผู้ตรวจการแผ่นดินในเรื่องธุรกิจดิวตี้ฟรี แต่ถ้าหากได้มีการยึดหลักนิติรัฐมาตลอด ถ้าหากได้เปิดให้ประชาชนมีบทบาทช่วยตรวจสอบอย่างจริงจัง ประชาชนก็จะเข้าใจได้ว่า รัฐบาลที่เน้นป้องปรามการฉ้อราษฎร์บังหลวงอย่างแท้จริงนั้น จะต้องทำตัวอย่างไร
นายธีระชัยกล่าวปิดท้ายว่า “ถ้ารัฐบาล คสช. ได้ทำนโยบายเศรษฐกิจที่เอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง รัฐบาล คสช. จะครองใจประชาชนไปตลอดกาล ประชาชนจะมีความหวัง และจะเชิญตัวแทนของ คสช. ให้เป็นนายกรัฐมนตรี ครั้งแล้วครั้งเล่า แต่เนื่องจากตลอด 4 ปีนี้ คสช. ไม่ได้คิดเอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง เศรษฐกิจรัฐบาล คสช.: 4 ปี แทนที่จะรุ่ง หรือรอด จึงกลับร่วงไป อย่างน่าเสียดาย”