ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ครั้งที่ 5/2561 ภายหลังการประชุม นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) แถลงว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ เรื่องความก้าวหน้าในการดำเนินงานอีอีซีที่ผ่านมา โดยระยะที่ 1 เรื่องแผนภาพรวมเพื่อการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ระยะที่ 2 โครงการโครงสร้างพื้นฐานหลักที่สำคัญ ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา โครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 และโครงการเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล
นายคณิศ กล่าวว่า นอกจากนั้น อีอีซียังได้ดำเนินการในเรื่อง 1.กำหนดเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเขตฯ อุตสาหกรรม 21 เขต และเขตฯ เพื่อกิจการพิเศษ 4 เขต ได้แก่ เมืองการบินภาคตะวันออก เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล และเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน 2.แผนภาพรวมเพื่อการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ในแผนปฏิบัติการ 4 แผน ได้แก่ แผนการพัฒนาบุคลากร การศึกษา การวิจัย และเทคโนโลยีแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค แผนการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ และแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลเพื่อรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก3.จัดทำแผนงานบูรณาการขับเคลื่อนอีอีซี ตาม พ.ร.บ.งบประมาณฯ พ.ศ.2562 แผนงานบูรณาการขับเคลื่อนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ได้รับจัดสรรงบประมาณตามร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ในปี 2562 จำนวน 14,862,6146 ล้านบาท และ 4.มีกิจกรรมชักจูงการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ และความร่วมมือระหว่างประเทศ
นายคณิศ กล่าวอีกว่า ระยะที่ 3 การชักจูงการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย การวางแผนเพื่อรองรับการพัฒนาในอนาคต โดยกำหนดให้การลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษในอีอีซี ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ 500,000 ล้านบาท ในระยะเวลา 5 ปี แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มที่ 1 ดึงการลงทุนร่วมกับบีโอไอ เป้าหมาย 100,000 ล้านบาทต่อปี โดยจะจัดทำแผนการดำเนินการเชิงรุกเพื่อบรรลุเป้าหมายการลงทุนดังกล่าว โดยมุ่งเน้นการหานักลงทุนที่เป็นผู้ประกอบการหลัก ในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ การจัดทำแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค การพัฒนาศูนย์บริการเบ็ดเสร็จครบวงจรในพื้นที่อีอีซี เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ ผู้ประกอบการ นักลงทุน มีความปลอดภัยของระบบข้อมูลในการติดต่อธุรกิจ ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการ
นายคณิศ กล่าวอีกว่า กลุ่มที่ 2 การประชาสัมพันธ์เชิงพื้นที่เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยนายกฯ ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างมาก เนื่องจากช่วงที่นายกฯลงพื้นที่ต่างจังหวัด พบว่าประชาชนไม่ค่อยรู้จักอีอีซี จึงขอให้ทำงานประชาสัมพันธ์เชิงรุกมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้เราจะดำเนินการประชาสัมพันธ์ เพื่อขยายตลาดการลงทุน ทั้งจากในและต่างประเทศและสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนา พร้อมจัดตั้งกองทุนพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เพื่อการพัฒนาพื้นที่หรือชุมชน รวมทั้งช่วยเหลือหรือเยียวยาประชาชนและชุมชน ที่อาจได้รับผลกระทบจากการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และสนับสนุน ส่งเสริมการศึกษา และให้ทุนการศึกษาแก่ประชาชนที่อยู่อาศัยในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือที่อยู่ใกล้เคียง และได้รับผลกระทบจากการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
นายคณิศกล่าวว่า และกลุ่มที่ 3 วางแผนอนาคตรองรับการพัฒนา โดยการขยายพื้นที่อีอีซี นอกจาก 3 จังหวัด มีการประกาศอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษเพิ่มเติม การเตรียมการพัฒนาเมืองใหม่อัจฉริยะน่าอยู่ เมืองศูนย์กลางการเงิน การพัฒนาแรงงานคุณภาพสูง รวมถึงแผนงานสำคัญในระยะต่อไปเพื่อรองรับอนาคต หลังจากรถไฟความเร็วสูงเสร็จในปี 2566 เช่น สาธารณูปโภค สาธารณูปการ สาธารณสุข เกษตร สิ่งแวดล้อม เป็นต้น